โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เกิดจากเชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคมาจากทวารหนักเป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีสภาวะที่อำนวย เช่น ความไม่สะอาดกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวาน และยังมีโรคในทางเดินปัสสาวะหลายโรคเอื้ออำนวยให้เกิด หรือเกิดร่วมกันกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง
- เพศหญิง มีท่อปัสสาวะสั้นมากเมื่อเทียบกับชาย เชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดจึงมีโอกาสคืบคลานเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่าจึงมักพบโรคนี้ในหญิงทุกวัยมากกว่าในชายโดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ในวัยหมดประจำเดือนและในหญิงสูงอายุเยื่อบุทางเดินปัสสาวะจะบางลงและความต้านทานโรคต่ำลง เกิดโรคนี้ได้ง่ายมากขึ้น
- ในชายอายุ 50-60 ปีขึ้นไปที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต เป็นปัจจัยทำให้ชายสูงอายุเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้เท่าเทียมกับผู้หญิงสูงอายุ
อาการเตือนว่าคุณกำลังมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อาการที่สำคัญ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากถ่ายปัสสาวะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- ปัสสาวะไม่ค่อยสุดหรือมีปัสสาวะหยดหรือไหลซึมออกมาอีก
- ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็งหรืออาจปวดแบบถ่วงๆแบบเป็นๆหายๆหรืออาจรู้สึกปวดตลอดเวลา
- พอรู้สึกปวดต้องไปรีบถ่าย บางครั้งกลั้นไม่ได้จนมีปัสสาวะเล็ดออกมา
- ปัสสาวะปวดเบ่งหรือไม่ค่อยออก
- ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุดหรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
- ปัสสาวะขุ่น
- ต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไปในคืนหนึ่งๆ
ในกรณีที่กระเพาะปัสสาวะอักเสบเล็กน้อยหรือเป็นแบบเรื้อรัง อาการดังกล่าวข้างต้น อาจมีเพียงเล็กน้อยจนผู้ป่วยไม่ได้สังเกตอาการหรืออาจเคยชินกับอาการเหล่านั้นและถ้าไม่ได้รับการรักษา และปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพชีวิตได้
การตรวจและวินิจฉัย
คนที่มีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่าง ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่ามีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย มีไข้ อาจตรวจพบการอักเสบบวมแดงหรือพบแต้มเลือดหรือพบเมือกขุ่นขาวที่ปลายท่อปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องตรวจหาต้นเหตุอื่นๆที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย
โรคอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
- โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานอย่างปกติ
- โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
- โรคกระเพาะปัสสาวะหย่อน
- โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
- โรคกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
- โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกินปกติ
- โรคเยื่อบุช่องคลอดซูบแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
- โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ
ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบและมะเร็งต่อมลูกหมาก
วีธีการรักษา
- ให้ยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม ทั้งชนิดยา ขนาดยาและระยะเวลาที่ให้
- ให้ยารักษาอาการเช่น อาการปวด อาการเจ็บแสบ อาการปัสสาวะลำบาก
- ให้ดื่มน้ำเสมอๆ วันละ 2-5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)
- ให้รักษาอนามัยของร่างกายและอนามัยในกิจกรรมทางเพศ
- ต้องติดตามตรวจปัสสาวะหลังให้ยารักษา (5-10 วัน)
พบเสมอ ๆ ที่อาการทุเลาหรือหายไปแล้วแต่การอักเสบยังมีอยู่หรือยังมีต้นเหตุที่เอื้ออำนวย หรือ เกิดร่วมกันอยู่ ซึ่งถ้าไม่คิดตามกำจัดโรค และต้นเหตุให้หายขาดอาจกลับเป็นซ้ำหรือกลายเป็นโรคเรื้อรัง เป็นผลเสียต่อสุขภาพชีวิตในบางรายโรคอาจลุกลามไปที่ไตซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะไตวายได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
ดูแลและป้องกันตัวเองอย่างไร
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักเสมอ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ
- รักษาอนามัยในกิจกรรมทางเพศและในระยะที่มีประจำเดือน
- ไม่กลั้นปัสสาวะนานมากจนเกินไป
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- เมื่อมีโรคใด ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่มีการอักเสบติดเชื้อต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้ลุกลาม
- เมื่อมีโรคที่เอื้ออำนวย เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรืออื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที