ตาขี้เกียจ
โรคตาขี้เกียจ หรือ Lazy Eye มักพบในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี ซึ่งตามีอาการมองเห็นภาพไม่ชัด และหากไม่รีบรักษา เสี่ยงตาบอดถาวรในอนาคต
ตาขี้เกียจ (Amblyopia / Lazy Eye) คือ โรคทางสายตาที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงและตาบอดถาวรในอนาคต ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียว แต่บางรายอาจพบได้ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งโรคนี้มักจะปรากฏในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางการมองเห็น
สาเหตุของโรค
ตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) เป็นปัญหาทางสายตาที่มักจะทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็กได้บ่อย เกิดจากดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานไม่ประสานกัน ข้างใดข้างหนึ่งอาจมองตรง ส่วนอีกข้างอาจจะเฉออกไปด้านข้าง บน หรือล่าง ทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อน ผู้ที่มีอาการตาเขหรือตาเหล่จึงเลือกใช้ดวงตาข้างที่มองตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการมองเห็นภาพซ้อนกัน จึงทำให้ดวงตาอีกข้างไม่พัฒนาไปตามปกติ สุดท้ายกล้ามเนื้อตาข้างนั้นจึงไม่ได้ใช้งาน การมองเห็นลดลง และสุดท้ายจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน
ภาวะสายตาผิดปกติที่ต่างกันมาก (Refractive Errors) อาจเป็นไปได้ทั้งสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียงที่เป็นผลมาจากการหักเหของแสงที่ส่องผ่านแก้วตาผิดปกติ โดยทั่วไปคนที่มีปัญหาทางด้านสายตามักจะเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้างและมีค่าสายตาใกล้เคียงกัน
แต่ในบางรายอาจมีภาวะสายตาผิดปกติที่มีค่าสายตาทั้ง 2 ข้างต่างกันมาก (Anisometropia) ซึ่งมีโอกาสเกิดตาขี้เกียจได้สูง เพราะแสงที่ส่องผ่านเข้าเลนส์ตามากน้อยไม่เท่ากัน ทำให้สมองเลือกตอบสนองกับดวงตาข้างที่รับแสงได้ดีกว่า ดวงตาอีกข้างจึงไม่ค่อยถูกใช้งานและพัฒนาน้อยกว่าอีกข้าง
ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความมัวในตา (Stimulus Deprivation Amblyopia) เป็นความผิดปกติที่เกิดได้จากมีสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็นของดวงตา ทำให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัด เช่น เป็นต้อกระจกแต่กำเนิด จึงทำให้เลนส์แก้วตาที่มีความใสตามปกติเริ่มขุ่นมัวจนบดบังการมองเห็น บางส่วนอาจพบว่ามาจากโรคที่ทำให้หนังตาตกหรือเปลือกตาตกจนไปขัดขวางการมองเห็น
อาการของโรค
โรคนี้ค่อนข้างสังเกตได้ยาก และเด็กก็อาจแยกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติจากดวงตาได้ชัดเจน ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้
- การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างแย่ลง
- มีอาการตาเหล่ ต้องเอียงศีรษะหรือปิดตาไว้ข้างหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด
- การกะระยะหรือวัดความห่างระหว่างวัตถุกับสิ่งอื่นๆ ทำได้ยาก
- ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก
- ปวดศีรษะ
พ่อแม่อาจเริ่มสังเกตอาการของเด็กได้ตั้งแต่หลังคลอดไม่กี่สัปดาห์ แต่ในเด็กบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสายตาอย่างละเอียดเป็นหลัก แพทย์มักจะแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 3-5 ปีเข้ารับการตรวจคัดกรองสายตาจากจักษุแพทย์ เพราะการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กเป็นไปตามวัย นอกจากนี้เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงทำให้มีโอกาสในการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ