ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ล้วนแวดล้อมไปด้วยเสียงดังต่างๆ เช่น เสียงการจราจร เสียงรถบรรทุก เสียงประทัด เสียงเครื่องจักร เสียงตอกเสาเข็ม เป็นต้น เสียงดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทีละน้อยอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว โดยอาจจะใช้ระยะเวลานานเป็นปีๆ จึงจะสังเกตเห็นได้ชัด และมักจะไม่มีอาการอะไร ยกเว้นในกรณีที่ได้รับฟังเสียงดังมากอย่างทันที
กลไกการได้ยินเสียง
การได้ยินเสียงของคนเรานั้นเริ่มต้นเมื่อมีคลื่นเสียงจากการสั่นสะเทือนของอากาศผ่านเข้ามาในหูชั้นนอก และเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหูทำให้เกิดการสั่นของเยื่อแก้วหู และผ่านการสั่นสะเทือนต่อไปยัง กระดูกรูปฆ้อน กระดูกรูปทั่ง และกระดูกรูปโกลนในชั้นหูกลาง กระดูกรูปโกลนติดต่ออยู่กับก้นหอยของหูชั้นใน จะส่งผ่านการสั่นสะเทือนเข้าไปในหูชั้นใน ซึ่งมีของเหลวและเซลล์ขนอยู่ การสั่นสะเทือนจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และถูกส่งผ่านเซลล์ขนไปสู่เส้นประสาทหูไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ และแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน
การได้รับเสียงดังๆ เป็นระยะเวลานานๆ บ่อยๆ จะทำให้เซลล์ขนในหูชั้นในหรือเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ หรือถูกทำลายให้เกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างถาววร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การสูญเสียการได้ยินจากการได้รับเสียงดังๆ สามารถป้องกันได้โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น EAR PLUGS หรือ EAR MUFFS
อาการบ่งชี้ถึงภาวะที่อาจจะมีการ ‘สูญเสียการได้ยิน’ จากการได้รับ ‘เสียงดัง’
- ในขณะที่อยู่ในที่มีเสียงดังๆ ไม่สามารถพูดจาติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยความดังของเสียงพูดธรรมดา หรือหลังจากที่ได้ยินเสียง ดังๆ มีอาการของการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว
- หูอื้อ ได้ยินเสียงลดลง หรือไม่ได้ยินเสียงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
- มีเสียงดังรบกวนในหู
อาการดังกล่าวข้างต้นจะดีขึ้น หรือหายไปใน 1-2 ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน หลังจากได้รับเสียงดัง แต่ถ้ายังได้รับฟังเสียงดังซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินเสียงแบบถาวร หรือในกรณีเสียงที่ดังมากๆ เพียงครั้งเดียวก็ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินถาวรได้ เช่น เสียงระเบิด
เสียงดังๆ นอกจากส่งผลต่อการได้ยินแล้ว
ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอีกด้วย
รบกวนสมาธิ ความเครียด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
บางครั้งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน
และรบกวนต่อการทำงานในร่างกาย
เช่น ระบบไหลเวียนของเลือด
ระบบย่อยอาหาร เป็นต้น
การได้ยิน
- ความดังของเสียง
- ระยะเวลาที่ได้รับเสียง
- ชนิดของเสียง
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังทุกประเภท
- ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน
- จำกัดระยะเวลาในการสัมผัสกับเสียงดังให้น้อยที่สุด
- ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงรบกวน
- ตรวจการได้ยินอย่างน้อยปีละครั้ง
- เมื่อมีความผิดปกติเกี่ยวกับหู ควรพบแพทย์
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ปัจจัยเสริมที่ทำให้มีการสูญเสียการได้ยิน
- ความไว หรือความทนต่อเสียงของแต่ละบุคคล
- อายุ
- โรคหูอื่นๆ
- สภาพแวดล้อมของแหล่งเสียง
- โรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เป็นต้น