วัยสูงขึ้น…แต่ ‘ภูมิคุ้มกัน’ มักไม่สูงตาม เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักจะอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น เชื้อโรคต่างๆ จากภายนอกสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จากอาการเพียงเล็กน้อยก็อาจจะลุกลามและรุนแรงขึ้น เรื่องที่ต้องระวังอย่างมากคือโรคแทรกช้อนหรือโรคเรื้อรังที่อาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งอาจร้ายแรงจนเสียชีวิตได้
4 วัคซีนแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
ไข้หวัดใหญ่ คือโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อ Influenza Virus มีการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ในผู้สูงอายุ อาจจะมีอันตรายมากขึ้น โดยเสี่ยงต่อการติดเชื้อลงปอด ทำให้ปอดอักเสบมากขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบมากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดตีบที่หัวใจมากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า
- 23% จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังจากเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และยังมีอันตรายถึงแก่ชีวิตเพิ่มมากขึ้น
วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine)
โรคปอดอักเสบ เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย การลำเลียงออกซิเจนมีปัญหา อวัยวะสำคัญจึงเกิดภาวะล้มเหลว หรือเกิดการติดเชื้อที่เยื้อหุ้มสมอง
วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster Vaccine)
ไวรัสของคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสจะฝั่งอยู่ตามปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้เส้นประสาทเกิดการอักเสบ บวม และเป็นตุ่มใสที่ผิวหนังผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวังคือติดเชื้อที่เนื้อเยื่อในตาทำให้อักเสบและมีแผลที่กระจกตา อาจลุกลามให้ตาบอดได้
วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน
โรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากผู้สูงอายุได้รับเชื้อ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
- คอตีบ (Diphtheria) ส่งผลต่อคอและเยื่อบุจมูก มักมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ไข้สูง เจ็บคอ กลืนลำบาก หายใจหอบเหนื่อย
- บาดทะยัก (Tetanus) ส่งผลต่อระบบประสาทรุนแรง ถ้ารักษาไม่ทันอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
- ไอกรน (Pertussis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ มักมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่จะไอติดต่อกันนานและรุนแรงจนเหนื่อยเพลียมาก อาจรุนแรงถึงชีวิตหากพบภาวะแทรกซ้อน
ทำไมผู้สูงอายุ ควรฉีดวัคซีน?
เพราะ…ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมักจะอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น หากผู้สูงวัยได้รับเชื้อโรค ร่างกายจะไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายติดเชื้อและอาจเจ็บป่วยรุนแรงได้
References:
1) Warren-Gash C, et al. Eur respire J. 2018
2) Andrew MK, et al. J Am Geriatr Soc. 2021