เมื่อพูดถึงมะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้หญิงไทย เชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นตัวแปรสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม เชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้เพียงแต่ติดต่อกันง่ายผ่านการสัมผัสทางผิวหนังและการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังมีสายพันธุ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเซลล์ปากมดลูกจนกลายเป็นมะเร็งได้ในระยะยาว
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) มะเร็งปากมดลูก พบได้บ่อยสุดในมะเร็งสตรี และพบบ่อยเป็นอันดับ 4 ของสตรีทั่วโลก โดยในปี 2022 มีการรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 660,000 ราย และมีผู้เสียชีวิต 350,000 ราย นอกจากนี้ ในประเทศไทยเอง พบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่มากกว่า 10,000 คนต่อปี และเสียชีวิตมากกว่า 5,200 คนต่อปี แม้จะมีการพัฒนาด้านการป้องกันและการรักษา แต่ตัวเลขนี้ยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ HPV การขาดความรู้และการเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น การฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรอง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากยังคงเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคต
HPV คืออะไร?
HPV (Human Papillomavirus) คือเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ เชื้อไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ และในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เช่น หลอดคอ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และทวารหนัก นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศ ที่มือ นิ้วหรือฝ่าเท้าได้
HPV เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ง่ายมาก เนื่องจากมีการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะในบริเวณที่อ่อนนุ่ม เช่น เยื่อบุผิวในอวัยวะเพศ ช่องคลอด หรือทวารหนัก แม้แต่การสัมผัสระหว่างผิวหนังในระหว่างการสัมผัสทางเพศโดยไม่ต้องมีการสอดใส่ก็อาจทำให้ติดเชื้อได้
ประเภทของ HPV
เชื้อ HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักตามความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอนาคต
- สายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ (Low-risk HPV): สายพันธุ์เหล่านี้มักไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น หูดที่อวัยวะเพศหรือบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ HPV 6 และ HPV 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดในอวัยวะเพศมากถึง 90%
- สายพันธุ์ความเสี่ยงสูง (High-risk HPV): สายพันธุ์เหล่านี้มีศักยภาพในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อาจพัฒนาไปเป็นมะเร็ง สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกกว่า 70% และยังมีสายพันธ์อื่นๆที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น สายพันธุ์ 31 33 35 39 45 51 52 53 56 58 59 66 68
การติดต่อของ HPV
เชื้อ HPV ติดต่อได้ง่ายมาก และวิธีการแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ
- การสัมผัสทางเพศ: การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก หรือการสัมผัสผิวหนังในบริเวณอวัยวะเพศโดยตรง การติดเชื้อ HPV ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่สมบูรณ์ แม้แต่การสัมผัสทางกายก็สามารถแพร่เชื้อได้
- การสัมผัสเยื่อบุและผิวหนังโดยตรง: การสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อ HPV เช่น แผลเล็กๆ หรือบริเวณผิวหนังที่เปิด
- การคลอดบุตร: แม่ที่ติดเชื้อ HPV สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังลูกในระหว่างการคลอดผ่านช่องคลอดได้ แม้ว่าจะพบได้น้อย
แม้ว่า HPV จะเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ในหลายกรณี ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการหรือความผิดปกติใดๆ ทำให้การป้องกันและการตรวจคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการพัฒนาของโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับเชื้อ HPV
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง ติดเชื้อ HPV?
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
- มีคู่นอนหลายคนหรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ HIV
- ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกัน HPV
วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV
การป้องกันการติดเชื้อ HPV เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งปากมดลูกและโรคร้ายแรงอื่นๆ ต่อไปนี้คือวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ การป้องกันที่ดีสุดในปัจจุบันคือการฉีดวัคซีน HPV ปัจจุบันมี 3 ชนิด ขึ้นกับจำนวนสายพันธ์ไวรัสที่ครอบคลุม ซึ่งประสิทธิภาพการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกขั้นสูงและมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 90-95 โดยแนะนำให้ฉีดในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 9 ปี จนถึงอายุ 45ปี ( ตามข้อมูลจากงานวิจัย ) นอกจากวัคซีนแล้ว ยังแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 25 ปี หรือหลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้ว โดยการคัดกรองจะทำให้สามารถวินิจฉัยรอยโรคก่อนมะเร็ง และรักษามะเร็งระยะต้นได้ ทำให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิต ลดอัตราการเสียชีวิตของจากมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามได้
แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ให้บริการทั้งการป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูก
- ให้บริการฉีดวัคซีน HPV ทั้งชนิด 4 และ 9 สายพันธุ์
- บริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยวิธี Liquid Cytology Test และ HPV Test ที่เพิ่มความแม่นยำในการคัดกรองมะเร็งมากขึ้น รวมไปถึงตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) และ/หรือ ตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า กรณีผลคัดกรองผิดปกติเพื่อค้นหาโรค
ผลตรวจว่า พบมะเร็งปากมดลูก?
กรณีที่ผลการตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว จะทำการส่งตรวจเพื่อบอกระยะด้วย CT scan หรือMRI เมื่อสรุประยะโรคได้แล้ว แนวทางการรักษาจะเป็นการผ่าตัดเอามดลูกออก หรือตัดเฉพาะปากมดลูก และเก็บมดลูกในกรณีที่ยังต้องการมีบุตร ในผู้ป่วยระยเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลาม
ในระยะที่ 2 ถึง 4 จะทำการรักษาด้วยการฉายแสง และเคมีบำบัด เป็นการรักษาหลัก สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์โดยแพทย์ชำนาญการสาขาต่างๆ ที่ร่วมรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพทั้ง แพทย์ผ่าตัดเฉพาะทางมะเร็ง แ พทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาและมีเครื่องฉายแสงที่ทันสมัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเคมีบำบัด ทีมพยาบาล ที่พร้อมให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
บทความโดย
แผนกสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลไทยนครินทร์