เทคโนโลยีทางการแพทย์
64 slice CT scan
เป็นการตรวจทางการแพทย์สามารถสร้างภาพตามแนวตัดและแนวขวาง 3 มิติของอวัยวะที่ต้องการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดสูงในการแปลงสัญญาณภาพ
- ระบบสมอง : เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Brain)เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อสมอง หรือการวินิจฉัยหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี(Cerebral Angiography) ต่อมใต้สมอง ตา ต่อมน้ำลาย และคอ
- ระบบช่องท้องและทรวงอก : เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน การตรวจหาเนื้องอกระยะเริ่มต้นในลำไส้ใหญ่ (Colonography CT) และเนื้อเยื่อในปอด (Lung lesion and Lung CT)
- ระบบกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกสันหลัง มักใช้ในการวินิจฉัยโรคเนื้องอกของกล้ามเนื้อกระดูกหรือการอักเสบของข้อต่อต่างๆ และลักษณะทางกายวิภาคของกระดูกสันหลัง
- ระบบหลอดเลือด : เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ(Coronary CT Angiography) การตรวจหาปริมาณแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) หลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงไต และหลอดเลือดแดงที่ขา เป็นต้น
การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ 64 slice CT scan จะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20-30 นาที ซึ่งแล้วแต่ระบบที่จะตรวจ และบางกรณีอาจต้องมีการให้สารทึบรังสีโดยการฉีด กิน หรือ สวน ขึ้นอยู่กับอวัยวะหรือระบบที่ตรวจ เพื่อทำให้เกิดความแตกต่างของความทึบต่อรังสีกับอวัยวะที่ต้องการตรวจ และอวัยวะใกล้เคียง
ข้อดีของเครื่อง 64 slice CT scan
- มีความละเอียดในการตรวจ
- มีความแม่นยำ
- ใช้เวลาน้อย
การปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับตรวจ
- งดน้ำ งดอาหารก่อนการตรวจอย่างน้อย 4- 6 ชั่วโมง
- แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ กรณีต่อไปนี้
• สตรีตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
• ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสีมาก่อน
• ผู้ป่วยมีประวัติแพ้อาหารทะเล - มีผลตรวจเลือดแสดงการทำงานของไต (serum creatinine) ภายใน 1 เดือน นับจากวันเจาะจนถึงวันตรวจ ท่านสามารถที่จะเจาะเลือดจากโรงพยาบาลใกล้บ้าน และนำผลมาวันตรวจได้
การปฏิบัติตัวในระหว่างการตรวจ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยทำการตรวจในระบบช่องท้องส่วนบน และช่องท้องทั้งหมด ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำ ที่มีส่วนผสมของสารทึบรังสี
- ในกรณีผู้ป่วยทำการตรวจระบบช่องท้องส่วนล่างและช่องท้องทั้งหมด บางครั้งอาจมีการสวนสารทึบรังสี ผสมน้ำเข้าทางทวารหนัก เพื่อช่วยในการแสดงตำแหน่งของลำไส้ใหญ่แยกออกจากอวัยวะใกล้เคียง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ประจำห้อง เช่น การหายใจเข้า-ออก และกลั้นหายใจ เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ชัดเจน (ไม่เกิดภาพไหวเพราะเนื่องมาจากการหายใจ)
- ในขณะที่ทำการตรวจ เตียงตรวจจะเลื่อนเข้า-ออก พร้อมมีเสียงดังจากการทำงานของเครื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องควบคุมดูแลอยู่ ในขณะกำลังถ่ายภาพเอกซเรย์ เจ้าหน้าที่จะดูแลท่านผ่านทางโทรทัศน์วงจรปิดขณะเดียวกันถ้าท่านมีอาการผิดปกติอื่นๆ ท่านสามารถพูดติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านทางไมโครโฟนที่ติดอยู่กับตัวเครื่อง
ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้หลังการฉีดสารทึบสีให้แจ้งพยาบาล หรือรังสีแพทย์ทันที
- หายใจไม่สะดวก อึดอัด ใจสั่น หน้ามืด
- อาการคัน มีผื่นแดงตามร่างกาย ใบหน้า
- อาการปวด บวมแดง รอบๆ ตำแหน่งที่แทงเข็ม
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ
เนื่องจากสารทึบรังสีที่ถูกฉีดเข้าไปจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ โดยผ่านการกรองที่ไต
ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสารทึบรังสีควรดื่มน้ำมากๆ (1-2 ลิตร หรือ 5-10 แก้ว) ภายใน 24 ชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นการตรวจ
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่แผนกรังสีวินิจฉัย ต่อ 3021
MRI 3Tesla
เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
เป็นเครื่องมือบันทึกภาพทางการแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค และติดตามผลการตรวจรักษา โดยอาศัยการส่งถ่ายพลังงานคลื่นวิทยุจากขดลวดส่งคลื่นความถี่วิทยุ ไปยังผู้ป่วยซึ่งนอนอยู่ในสนามแม่เหล็กแรงสูง (อุโมงค์) พลังงานเหล่านี้จะสะท้อนกลับมายังตัวรับสัญญาณ โดยสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะถูกเปลี่ยนแปลงตามคุณสมบัติของเนื้อเยื่อและหลอดเลือด ซึ่งอาจใช้เวลาในการตรวจนาน 30-60 นาที แต่ข้อดีคือ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ ของร่างกายและไม่มีรังสีเอกซเรย์
MRI : สามารถหาความผิดปกติของระบบอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค เช่น
- ระบบสมอง : สมองขาดเลือด เนื้องอกสมอง การอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมอง และเยื่อหุ้มสมอง ค้นหาสาเหตุการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก ความผิดปกติแต่กำเนิดในเด็ก
- ระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ : กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดหรือเสื่อม หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เนื้องอกกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง การติดเชื้อกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง การบาดเจ็บของไขสันหลัง
- ระบบหลอดเลือดในสมองและส่วนคอ : หลอดเลือดแดง ตีบ แตก หรือตัน หลอดเลือดดำอุดตัน หลอดเลือดผิดปกติโดยกำเนิด
- ระบบช่องท้อง : ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ทางเดินน้ำดี มดลูก รังไข่ และต่อมลูกหมาก เป็นต้น
- ระบบทรวงอก : ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ และเต้านม เป็นต้น
ประโยชน์ของ MRI
- ไม่มีรังสีเอกซเรย์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย
- เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่การตรวจไม่ต้องได้รับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อและผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล
ขั้นตอนในการตรวจ
ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 – 60 นาที ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ การตรวจจะแบ่งเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดใช้เวลานาน 3 – 5 นาที
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
ไม่ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจ ยกเว้น การตรวจในช่องท้อง
วันที่มารับการตลรวจ งดใช้เครื่องสำอาง เช่น อายแชโดว์ มาสคาร่า เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะ ซึ่งจะรบกวนคลื่นแม่เหล็ก
วันตรวจควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คน
ผู้ป่วยและครอบครัวควรอ่านเอกสารแนะนำ “การปฏิบัติตัวเมื่อเข้ารับการตรวจโดยเครื่อง MRI” และซักถามเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวินิจฉัยให้เข้าใจ
ข้อห้ามและข้อควรระวัง
เนื่องจากเครื่องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อการทำงาน และการขยับของอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะ ทั้งที่อยู่ในร่างกาย หรือที่ติดมากับผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้
- ผู้ป่วยรับการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบางรุ่น (Cardiac pacemaker)
- ผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ชนิดโลหะ
- ผู้ป่วยผ่าตัดใส่คลิปหนีบหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)
- ผู้ป่วยผ่าตัดใส่เครื่องช่วยฟังที่ฝังในกระดูกหู
- ผู้ป่วยมีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียมต่างๆ โลหะดามกระดูก กระสุนปืน
- มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
- ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
- กลัวที่แคบ (Claustrophobia) หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้
การปฏิบัติตัวหลังรับการตรวจ
- สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น กรณีที่ได้รับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น ควรมาพบแพทย์
- มาตรวจและฟังผลการตรวจตามวันเวลาที่นัดหมาย
Vital Beam
เครื่องเร่งอนุภาค (Varian; Vital Beam)
เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูง ที่สามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อน โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาที/ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
เทคนิคการฉายรังสี
Three Dimensional Conformal Radiotherapy (3D-CRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติ คือ การรักษาที่ใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นก้อนเนื้องอกและอวัยวะปกติในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยวิธี CT simulation จะทำให้ปริมาณรังสีกระจายอย่างสม่ำเสมอ มีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง และลดปริมาณรังสีที่จะกระทบเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ เซลล์มะเร็ง
Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้ม คือ พัฒนาการอีกระดับของการฉายรังสี 3 มิติ (3D-CRT) สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีการที่ใช้ปริมาณรังสีที่มีความเข้มต่างกัน และยังประกอบด้วยลำรังสีขนาดต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้น ๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม
Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)
เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT มีการปรับความเข้มของลำรังสี สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี (MLC) จึงช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการขยับตัวของผู้เข้ารับบริการอีกด้วย รวมทั้งทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้นๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม
Radiosurgery
รังสีศัลยกรรม หรือรังสีร่วมพิกัด คือ เป็นการรักษาโดยการให้รังสีเอกซ์ปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทั้งบริเวณสมอง ไขสันหลัง(SRS/SRT) และบริเวณลำตัว (SBRT) เช่น ปอดและตับ โดยรังสีศัลยกรรมมีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป คือจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า นอกจากนี้ รังสีศัลยกรรมสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป
Stereotactic Radiotherapy (SRT)
การฉายรังสีปริมาณสูงจำนวน 3-7 ครั้งที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะ หรือไขสันหลัง เพื่อลดผลข้างเคียงจากวิธีฉายรังสีแบบครั้งเดียว แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่จำเพาะ ซึ่งทำให้สามารถจัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ
Stereotactic Body Radiation Therapy (SBRT)
การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้รังสีจำนวน 3-7 ครั้ง