โรคอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนมากมายที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เส้นเลือดสมองตีบ และโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอายุขัยสั้นลงแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น โรคปวดข้อเข่า หรือหลัง ที่เกิดจากน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน หรือภาวะความดันในช่องท้องสูงซึ่งอาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เป็นต้น ดังนั้น การลดน้ำหนักไม่เพียงแต่ช่วยควบคุมโรคอื่น ๆ ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน ความอ้วนและปัญหารูปร่างที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนมีประสบการณ์ลดน้ำหนักมามากมาย ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกับบางคน แต่ในขณะเดียวกันยังมีหลายคนที่กำลังเผชิญกับโรคอ้วน จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ลดลงและไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ ได้ ‘การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก’ เป็นวิธีการที่ช่วยลดน้ำหนักและรักษาโรคอ้วนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) คืออะไร?
เป็นวิธีการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะอาหารให้เล็กลง ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคอ้วน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความจุของกระเพาะอาหารและการดูดซึม ในการจำกัดปริมาณอาหารและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ปริมาณแคลอรีเข้าสู่ร่างกายลดลง หลังการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยจะสามารถลดน้ำหนักได้ดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักได้ง่าย แต่ยังคงต้องมีการออกกำลังกายและควบคุมการพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อการควบคุมน้ำหนักได้ในระยะยาว
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะกับใครบ้าง?
การผ่าตัดกระเพาะอาหารลดน้ำหนัก เป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีความปลอดภัยและสามารถลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานมากเกินไป และไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ โดยที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์จะมีทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดบำบัดรักษาโรคอ้วนอายุรแพทย์ทางโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด และแพทย์ประจำสาขาหู คอ จมูก เพื่อร่วมประเมินการผ่าตัดอย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยที่ผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก มีเกณฑ์การพิจารณาต่อไปนี้
- อายุ ระหว่าง 18-65 ปี
- ค่า BMI > 37.5 kg/m²
- ค่า BMI 32 kg/m² หรือมีโรคร่วมจากความอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- พยายามออกกำลังกายและควบคุมอาหารแล้วแต่ไม่ได้ผล
วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
ปัจจุบันการผ่าตัดกระเพาะอาหารมีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เข้ารับการรักษามีขนาดแผลที่เล็ก ลดความเจ็บปวดและฟื้นตัวได้เร็ว ดังนี้
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบสลีฟ Laparoscopic Sleeve Gastrectomy (LSG) ศัลยแพทย์จะทำการตัดเย็บกระเพาะอาหารให้เล็กลง โดยจะตัดกระเพาะออกประมาณ 75-80% จนเหลือปริมาณความจุอยู่ที่ 150 cc โดยจะเลือกตัดเอาเฉพาะส่วนที่ไม่จำเป็นและคงส่วนที่เหลือให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเท่านั้น ซึ่งส่วนที่ถูกตัดออกจะเป็นกระเพาะอาหารส่วนที่ผลิตฮอร์โมนทำให้รู้สึกหิว(Ghrelin) ทำให้ลดอาการหิวบ่อย ซึ่งวิธีนี้ทำให้ความจุของกระเพาะอาหารลดลงอย่างมาก รับประทานอาหารได้น้อย รู้สึกแน่นและอิ่มเร็ว สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณ 60 %
- การผ่าตัดบายพาส Laparoscopic Roux-en Y Gastric bypass (LRYGB) เป็นการทำให้กระเพาะอาหารเล็กลงร่วมกับการทำทางเดินอาหารใหม่ร่วมด้วย ซึ่งศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนต้นให้เล็กลงประมาณ 30 cc จากนั้นจะนำลำไส้เล็กความยาว 180-200 ซม.บายพาสมาต่อกับกระเพาะอาหารเพื่อลดการดูดซึม หลังผ่าตัดจะรับประทานอาหารได้น้อยลง ร่วมกับมีการเผาผลาญไขมันและสารอาหารที่สะสมไว้ได้มากขึ้น ทำให้น้ำหนักลดลงได้ดี ซึ่งในวิธีนี้สามารถลดน้ำหนักส่วนเกินได้ประมาณ 70-80%
ผลของการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก คือ การรักษาสุขภาพกายให้ดีขึ้น ผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจรายละเอียดต่างๆ อย่างถูกต้องก่อน ซึ่งจะช่วยทำให้ลดน้ำหนักส่วนเกินได้ดี อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเส้นเลือดในสมองได้ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคอ้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถควบคุมน้ำหนักในระยะยาวได้ดี
ทำไมถึงต้องเลือกการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์?
- ทำการผ่าตัดโดยทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้อง ที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง (Advanced Minimally Invasive Surgery) และมีประสบการณ์ การผ่าตัดแบบแผลเล็ก โดยการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง
- แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวไว นอนพักรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน
- ได้รับการดูแลรักษาจากสหสาขาวิชาชีพอย่างครบถ้วน
- ติดตามดูแลรักษาหลังผ่าตัด 1 ปี
- ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อยมาก และที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารน้ำหนักลดลงได้ สำเร็จ ตรงตามเป้าหมาย
บทความโดย
รศ.นพ.ไชย์รัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
ศัลยศาสตร์ทั่วไป และ ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา และศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้อง
นพ.ดุษฎี สุรกิจบวร
ศัลยศาสตร์ทั่วไป และ ศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดส่องกล้อง
พญ.พุทธิพร เนาวะเศษ
ศัลยศาสตร์ทั่วไป และ ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา