อาการท้องผูกหรือถ่ายไม่ออกในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้จะดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ลูกมีอาการท้องผูกนานๆ โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อย จนอาจกลายเป็นปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง
ก่อนอื่นควรทราบก่อนว่า ทารกปกติถ่ายอุจจาระบ่อยเพียงใด ทารกที่ทานนมแม่จะถ่ายบ่อยเป็นปกติอยู่แล้ว คือ อาจถ่ายทุกครั้งหลังจากทานนมแม่ หลังอายุ 6 สัปดาห์จะถ่ายน้อยลงเป็นวันละ 3-5 ครั้ง ส่วนทารกที่ทานนมผงดัดแปลงจะถ่ายอุจจาระน้อยกว่า คือ ช่วงแรกอาจถ่ายวันละ 5 ครั้ง แต่หลังอายุ 2-3 เดือนจะถ่ายเพียงวันละ 1-2 ครั้ง
เด็กที่มีปัญหา ท้องผูก อาจดูจากความถี่ในการถ่ายอุจจาระ คือ ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือดูจากลักษณะอุจจาระ กล่าวคือ ถ่ายอุจจาระแข็งเหมือนเม็ดกระสุนหรือถ่ายก้อนใหญ่ ทำให้เด็กมีอาการเจ็บปวดมากเวลาเบ่งถ่าย เวลาถ่ายอุจจาระอาจร้องงอแงหรือเบ่งมาก เมื่อเด็กมีปัญหาท้องผูกเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน จึงนับเป็นท้องผูกเรื้อรัง
ข้อควรระวัง คือ ทารกปกติบางคนอาจถ่ายอุจจาระห่างหรือร้องมากเวลาเบ่งถ่าย ในทารกวัย 1-3 เดือนบางคนที่ทานนมแม่อย่างเดียว อาจถ่ายอุจจาระห่างได้ เช่น ถ่ายเพียงครั้งเดียวในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่อุจจาระมีลักษณะนุ่ม ทารกบางคนร้องมากเวลาเบ่งถ่ายแต่ในที่สุดก็ถ่ายอุจจาระลักษณะนุ่มๆ ออกมา ทั้งสองแบบนี้ไม่นับเป็นท้องผูก
ท้องผูก เกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัญหา ท้องผูก ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว และอาจจะทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ นอกจากนี้ท้องผูกจะเริ่มพบได้บ่อยในเด็กวัยประมาณ 1 ปี เพราะเป็นช่วงที่เด็กๆ มีพัฒนาการมากขึ้น เริ่มหัดเดิน สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวและติดเล่น จึงอาจทำให้เขากลั้นอุจจาระไม่ยอมถ่าย เด็กบางคนอาจกลั้นอุจจาระเพราะไม่ยอมใช้ห้องส้วมนอกบ้าน หรือเพราะถูกฝึกขับถ่ายเร็วและเข้มงวดเกินไปโดยที่เด็กยังไม่พร้อม
เมื่อเด็กกลั้นอุจจาระบ่อยๆ จะส่งผลให้ปลายลำไส้ใหญ่ขยายขึ้น อุจจาระจะไปสะสมได้นานขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนานวันก็จะยิ่งแข็ง อุจจาระมีขนาดก้อนโต เวลาถ่ายทำให้รูทวารฉีกขาด อุจจาระมีเลือดปน เด็กจะเจ็บมากเวลาเบ่งถ่าย เมื่อเป็นแบบนี้เด็กๆ ก็ยิ่งรู้สึกกลัวการถ่าย ยิ่งทำให้กลั้นอุจจาระ ทำให้เกิดวงจรของการท้องผูกเรื้อรัง
บางคนไม่สามารถฝึกให้นั่งถ่ายในกระโถนหรือส้วม เนื่องจากกลัวการถ่ายอุจจาระมาก เด็กจะพยายามกลั้นโดยขมิบก้น เกร็งขาหรือไปแอบตามตู้หรือซอกมุมห้อง เด็กที่กลั้นอุจจาระไว้หลายวัน อาจมีอาการท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ ทานอาหารได้น้อยลง ถ้าได้ถ่ายอุจจาระออกไป วันนั้นจะทานอาหารได้มากขึ้น เด็กที่มีท้องผูกเป็นเวลานาน ๆ บางคนมีอุจจาระเหลวเลอะเทอะติดกางเกง เนื่องจากมีก้อนอุจจาระแข็งตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ใหญ่ขึ้นแล้วมีอุจจาระเหลวไหลผ่านข้างๆ ก้อนอุจจาระแข็งออกมา
เด็กส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการท้องผูกจากโรคร้ายแรง เช่น โรคลำไส้ใหญ่ส่วนปลายไม่มีปมประสาท โรคของไขสันหลัง หรือโรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย
ถ้าลูกท้องผูก จะดูแลปรับเรื่องอาหารได้อย่างไรบ้าง
อาจให้ดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำองุ่น หรือน้ำแอปเปิ้ล ส่วนในเด็กวัยที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว ควรเพิ่มผักผลไม้ เช่น ผสมผักเพิ่มเข้าไปในอาหาร เพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
หากอาการท้องผูกยังไม่หาย ควรให้ลูกทานยาอะไรและปรับพฤติกรรมขับถ่ายอย่างไร
หากปรับการทานอาหารแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น สามารถทานยารักษาอาการท้องผูกได้ เช่น ยากลุ่มที่ช่วยให้อุจจาระนุ่มขึ้น (Osmotic Laxative) เนื่องจากมีความปลอดภัยสูงถึงแม้ว่าจะทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ยาจะช่วยให้ถ่ายอุจจาระออกมาได้ง่าย ไม่เจ็บปวดเวลาถ่าย และยังช่วยให้รูทวารที่ฉีกขาดค่อยๆ หายไป ในรายที่ท้องผูกเรื้อรังมานาน มีพฤติกรรมกลั้นอุจจาระและกลัวการถ่ายอุจจาระมาก อาจจำเป็นต้องทานยาที่ช่วยทำให้อุจจาระนุ่มติดต่อกันนานอย่างน้อย 3-6 เดือน ไม่แนะนำให้เหน็บหรือสวนยาที่รูทวารเป็นประจำ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจมีแผลฉีกที่รูทวารจากก้อนอุจจาระที่แข็งหรือใหญ่ การเหน็บหรือสวนยาที่รูทวารเป็นการกระตุ้นให้มีอาการเจ็บปวดมากขึ้น
ในกรณีเด็กติดเล่นจนไม่มีเวลานั่งถ่าย ผู้ปกครองควรจัดระเบียบให้มีเวลานั่งถ่ายประมาณ 10-15 นาที (ช่วงเวลาที่ดี คือ หลังรับประทานอาหารเสร็จ เนื่องจากในภาวะปกติหลังรับประทานอาหาร จะมีการกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวและอาจช่วยให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านออกมาง่ายขึ้น) เวลานั่งถ่ายไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่น โทรศัพท์มือถือ หรือดูหนังสือการ์ตูนไปด้วย เพราะเด็กจะไม่ตั้งใจพยายามเบ่งถ่ายอุจจาระ เมื่อเด็กมีความพยายามนั่งขับถ่ายควรกล่าวชมเชยหรือให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เด็กมีความตั้งใจที่จะขับถ่ายให้สม่ำเสมอต่อไป
วิธีป้องกันไม่ให้เด็กท้องผูก
ควรให้เด็กทานนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด
เพราะนมแม่มีส่วนช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม
และควรให้เด็กทานอาหารเสริมที่เหมาะสมตามวัย
เช่น อายุ 6-8 เดือน ให้อาหารเสริมวันละ 1-2 มื้อ
และเพิ่มเป็นวันละ 3 มื้อเมื่ออายุ 9-11 เดือน
เพื่อให้เด็กได้รับผัก ผลไม้ที่เพียงพอ