Shopping Cart

No products in the cart.

แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว ปล่อยเรื้อรัง เสี่ยงหลอดอาหารอักเสบ  

อาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ จนเกิดอาการเรอเปรี้ยว หากปล่อยไว้นานเป็นเรื้อรังจะเสี่ยงต่อการเกิดหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลรุนแรงเสี่ยงหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลรุนแรง จนอาจเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้

โรคกรดไหลย้อน หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยหรืออาหารในกระเพาะอาหาร ไหลกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ จนเกิดอาการเรอเปรี้ยว ถ้าเป็นเรื้อรังจะเป็นสาเหตุให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลรุนแรง หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุหลอดอาหาร และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการทางระบบ หู คอ จมูก เช่นไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรือ อาการทางระบบหายใจเช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตตัวเองและปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย และกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคผิวหนังแข็ง เป็นต้น

อาการของโรคกรดไหลย้อน 

  • อาการในหลอดอาหาร (Esophageal symptoms) แสบร้อนบริเวณกลางหน้าอก (Heartburn) มีน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • อาการนอกหลอดอาหาร (Extra esophageal symptoms) เจ็บหน้าอก โดยที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เจ็บคอ หรือเสียงแคบเรื้อรัง กลืนติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในคอ ไอเรื้อรัง  อาการทางช่องปาก เช่น มีกลิ่นปาก ฟันผุ

โรคกรดไหลย้อน แตกต่างจาก โรคกระเพาะอาหารอย่างไร ?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอ เหมือนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้างหลังทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ทำให้เกิดความลำบากในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยบางราย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน

  • ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ที่ทำหน้าที่ป้องกันกรด ไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมีความดันของหูรูดต่ำหรือเปิดบ่อยกว่าคนปกติ ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
  • ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทานไหลลงช้าหรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลตจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
  • พฤติกรรมในการดำเนินชีวิต เช่น เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหาร รับประทานอาหารปริมาณมากในหนึ่งมื้อ สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ ความเครียด
  • โรคอ้วน ทำให้เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารและทำให้กรดไหลย้อนกลับ
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง รวมถึงมดลูกที่ขยายตัวจะเพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหาร

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

โดยทั่วไปแพทย์จะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนโดยใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก หากผู้ป่วยมีอาการทางหลอดอาหารเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อนสามารถวินิจฉัยโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม แต่หากได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการเตือนอื่นๆ เช่น กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อาเจียนบ่อยๆ หรือมีประวัติอาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระดำ มีอาการซีด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร

กรดไหลย้อน รักษาอย่างไร ?

  1. รักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ งดดื่มน้ำอัดลม งดทานอาหารรสจัด หรือมีไขมันสูง และหลีกเลี่ยงการทานอาหารอย่างน้อย 3 ช.ม.ก่อนเข้านอน และให้นอนศีรษะสูง หรือนอนตะแคงซ้ายในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืน เป็นต้น
  2. รักษาโดยใช้ยา proton-pump inhibitors ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาให้ผลการรักษาที่ดี แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานานกว่าการรักษาโรคกระเพาะอาหารทั่วไป โดยระยะเวลาในการให้ยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์
  3. รักษาโดยการผ่าตัด เฉพาะในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยยามาเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนจากโรคกรดไหลย้อน เช่น มีแผลในหลอดอาหาร หลอดอาหารตีบหรือมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร

โรคกรดไหลย้อน สามารถกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?

มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก โดยเฉพาะคนไทยและเอเชีย ที่มีอาการอักเสบของหลอดอาหารไม่รุนแรงนัก แต่หากมีระดับความรุนแรงมาก ก็จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. นิกร ปริญญาวุฒิชัย
นพ. นิกร ปริญญาวุฒิชัย
แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์