Shopping Cart

No products in the cart.

รังสีรักษาคืออะไร?

รังสีรักษา เป็นการใช้รังสีเอ็กซเรย์ที่มีพลังงานสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด ปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องฉายรังสีมีการพัฒนาไปมาก ทำให้ได้การรักษาที่แม่นยำ สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ

รังสีรักษามีอยู่ 2 รูปแบบ

1. การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy)
เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย โดยเริ่มจากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการรักษา (CT Simulator) เพื่อระบุตำแหน่ง ขอบเขต ขนาดของรอยโรคและอวัยวะข้างเคียง โดยแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์จะนำภาพที่ได้ไปจำลองแผนการรักษา ขั้นตอนต่อมาจะนำแผนการรักษาที่วางไว้มาฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Linear Accelerator) โดยมีเทคนิคการฉายรังสี เช่น การฉายรังสีแบบสามมิติ (3DCRT), การฉายรังสีแปรความเข้มแบบหมุนรอบตัว (VMAT), การฉายรังสีร่วมพิกัด (SBRT) โดยแพทย์จะเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวโรคและผู้ป่วยทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และใช้เวลาไม่นาน

2. การให้รังสีระยะใกล้หรือการใส่แร่ (Brachytherapy)
เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆกับก้อนมะเร็ง การเลือกวิธีฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค เป็นต้น เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสม และการใส่แร่อาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

ขั้นตอนการฉายรังสี

แพทย์จะประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนเริ่มทำการรักษาและพูดคุยถึงแนวทางการรักษา จากนั้นจะนัดมาจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะถูกจัดตำแหน่งให้อยู่นิ่งด้วยอุปกรณ์ยึดตรึง โดยนักรังสีรักษาจะทำการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีทุกครั้ง การฉายรังสีจะใช้เวลาวันละประมาณ 15-20 นาที โดยจะฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ตามแต่ชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์