Shopping Cart

No products in the cart.

รักษามะเร็งด้วยรังสี ต้องเตรียมตัวยังไง?

เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแล และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายได้ จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งนี้การมารับการรักษาช้าอาจมีผลทำรักษาโรคได้ยากขึ้น หรือผลการรักษาแย่ลงได้
การรักษาโรคมะเร็ง มีหลายองค์ประกอบ เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยพิจารณาจากชนิดของมะเร็ง ระยะโรค และความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วย


รังสีรักษา
(External Beam Radiation Therapy) คือ การนำรังสีมาใช้รักษาโรค ได้แก่ การรักษาโรคมะเร็ง และรอยโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น โรคเนื้องอกในสมอง แผลเป็นคีลอยด์ ซึ่งรังสีที่ใช้เป็นรังสีประเภทเดียวกับรังสีที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์ แต่มีพลังงานที่สูงกว่า และใช้ในปริมาณที่สูงกว่าที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค

ก่อนรับการรักษามะเร็งด้วยรังสีต้องเตรียมตัวอย่างไร?

การดูแลตัวเองให้มีภูมิคุ้มกันที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเอาชนะโรคมะเร็งได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น
รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งมักได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น เคมีบำบัด รังสีรักษา หรือภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นต้น ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ เบื่ออาหาร การรับรสอาหารเปลี่ยนไปทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้น ควรให้ความสำคัญกับอาหารประเภทโปรตีน เพราะโปรตีนสำคัญกับการสร้างความแข็งแรงและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เพิ่มเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ช่วยสมานแผล รวมถึงเพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน เพราะการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายปรับสมดุล และซ่อมแซมส่วนต่างๆ

ลดการสัมผัสกับสารพิษ ควรล้างมือให้สะอาด และลดการได้รับสารพิษจากอาหาร โดยล้างผักผลไม้ให้สะอาด อาหารต้องปรุงสุก เพราะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงลดการสัมผัสสารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ปรับสภาวะทางอารมณ์ และช่วยลดความเครียดได้

ดูแลผิวบริเวณที่ฉายรังสี ในระหว่างการฉายรังสี

1. ห้ามถู แกะ และเกา บริเวณที่ฉายรังสี เพราะผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีบอบบางอาจทำให้เกิดแผลได้
2. สามารถอาบน้ำได้ปกติ ไม่ใช้น้ำร้อนหรือเย็นเกินไป โดยใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
3. ไม่ใช้แป้ง น้ำหอม หรือ แอลกฮอร์ บริเวณที่ฉายรังสีเพื่อลดการระคายเคือง
4. พยายามอย่าให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีโดนแสงแดด หากต้องโดนแดดให้ทาครีมกันแดดป้องกันโดยใช้ SPF 30% ขึ้นไป
5. สวมเสื้อผ้าหลวม เนื้อผ้าเบาสบาย เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง

การดูแลรักษาหลังฉายรังสี

1.พบแพทย์ตามที่นัดหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2.ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเหมือนกับระหว่างที่รับการรักษาด้วยการฉายรังสีต่อไปอีกเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์