ปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่สูง เช่น เดินเขา กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักเดินทางหลายคนต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ท้าทายตนเองในธรรมชาติที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ทิวทัศน์ที่สวยงามและหลากหลายของพื้นที่สูงยังเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติให้เดินทางไปเยือน อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่สูงสามารถทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้ เนื่องจากการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รบกวนความสุขจากการเดินทางได้
ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม
อากาศในพื้นที่สูงมักมีปริมาณออกซิเจนลดลง เนื่องจากความดันอากาศที่ลดลง ทำให้ความดันย่อยของออกซิเจนในอากาศลดลง ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน นอกจากนี้ พื้นที่สูงยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น อุณหภูมิต่ำ แสงยูวีแรงขึ้น และความชื้นที่ลดลง ซึ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
เมื่อเข้าสู่สภาวะแวดล้อมที่ออกซิเจนลดลง ร่างกายจะพยายามปรับตัวเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนไปสู่เซลล์ และเพิ่มความทนทานต่อการขาดออกซิเจน เช่น หายใจที่เร็วขึ้น การขยายตัวของหลอดเลือดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมอง และหดตัวของหลอดเลือดในปอดบางบริเวณ เป็นต้น ซึ่งการปรับตัวใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันในแต่ละบุคคลและแต่ละแผนการเดินทาง และยังอาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูงได้
อาการเจ็บป่วยจากการท่องเที่ยวที่สูง
หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ได้เพียงพอ หรือไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นในนักเดินทางที่ขึ้นไปยังพื้นที่สูงมากกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จะส่งผลให้เกิดอาการแสดงที่ผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- อาการแพ้พื้นที่สูงเฉียบพลัน (Acute Mountain Sickness; AMS)
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร คล้ายอาการเมาค้าง (Hangover) มักเริ่มมีอาการที่ประมาณ 6-24 ชั่วโมงอยู่บริเวณพื้นที่สูง โดยเฉพาะช่วงหลังคืนแรกที่นอนอยู่บนพื้นที่สูง อาการเหล่านี้ไม่รุนแรง หายเองได้ใน 1-2 วัน หากอยู่ในระดับความสูงเดิม - ภาวะสมองบวมจากการขึ้นที่สูง (High Altitude Cerebral Edema; HACE)
ผู้ป่วยจะมีอาการเดินเซ ซึม สับสน มองเห็นผิดปกติ คล้ายคนเมา (Alcohol Intoxication) มักเริ่มเกิดประมาณ 48 ชั่วโมงขึ้นพื้นที่สูง หากไม่ลงจากพื้นที่สูงทันที ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการเดินเซ อาจเสียชีวิตได้ - ภาวะปอดบวมจากการขึ้นที่สูง (High Altitude Pulmonary Edema; HAPE)
ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรง โดยอาจพัฒนาจนไปถึงเหนื่อยขณะพัก และไอ มักเริ่มมีอาการที่ประมาณ 2-5 วันหลังขึ้นพื้นที่สูง โดยอาการจะเปลี่ยนแปลงแย่ลงอย่างรวดเร็ว หากไม่ลงจากพื้นที่สูงทันที อาจเสียชีวิตได้
ป้องกันอาการเจ็บป่วยจากการท่องเที่ยวที่สูง
- ปรับเปลี่ยนแผนการเดินทางให้เหมาะสม
เปลี่ยนระดับความสูงขณะนอนช้าๆ โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปยังพื้นที่ที่สูงกว่า 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ควรเปลี่ยนระดับความสูงไม่เกินวันละ 500 เมตร และหยุดพักที่ระดับความสูงเดิมอย่างน้อย 1 วัน ในทุกความสูง 1,000 เมตรที่เปลี่ยนไป หรือปรับตัวล่วงหน้าในพื้นที่ที่ต่ำกว่า เช่น ใข้เวลา 6-7 วันที่ความสูงระดับ 2,200–3,000 เมตร ก่อนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่สูงกว่า - ระมัดระวังในการทำกิจกรรมช่วงแรกของการขึ้นพื้นที่สูง
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในช่วง 1-2 วันแรกที่ระดับความสูงใหม่ โดยสามารถดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ได้ตามปกติ - ซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายด้วยเฮลิคอปเตอร์
- ปฏิบัติตามกฎทอง (Golden Rules) สำหรับการขึ้นที่สูง ได้แก่
– หากเจ็บป่วยขณะอยู่บนพื้นที่สูง ให้คิดว่าอาการนั้นเกิดจากอาการแพ้ที่สูงจนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าเป็นอย่างอื่น
– หากมีอาการแพ้ที่สูง อย่าขึ้นไปต่อหากรู้สึกป่วยมากๆ อาการไม่สบายแย่ลง ไม่สามารถเดินต่อส้นเท้าเป็นเส้นตรงได้ หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่มขณะพัก ให้รีบลงทันที - อาจพิจารณาใช้ยาป้องกันอาการเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูง: โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาป้องกัน
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่สูงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอาการเจ็บป่วยจากการขึ้นที่สูงได้ ผู้เดินทางควรเตรียมพร้อมทั้งการวางแผนการเดินทางที่เหมาะสม รวมทั้งเตรียมพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพขณะเดินทาง
หากท่านใดมีแผนการเดินทางไปยังพื้นที่สูงเร็วๆ นี้ อย่าลืมมาปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อรับคำแนะนำด้านสุขภาพก่อนการเดินทาง ให้การเดินทางของคุณราบรื่นและปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพที่อาจมารบกวนความสุขจากการเดินทางของคุณ
บทความโดย
นพ.ภณสุต หรรษาจารุพันธ์
แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว
โรงพยาบาลไทยนครินทร์