Shopping Cart

No products in the cart.

ภาวะน้ำตาลต่ำในผู้ป่วย ‘โรคเบาหวาน’

‘ภาวะน้ำตาลต่ำ’ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบได้บ่อยๆ ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่งผลให้มีอาการแสดงต่างๆ ได้แก่ เหงื่อแตก ตัวเย็น มือสั่น ตาพร่า คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน มึนเวียนศีรษะ ใจสั่น ใจเต้นเร็ว หรืออาจมีภาวะรุนแรงจนหมดสติหรือชักได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัวของผู้ป่วย ควรทราบอาการแสดง สาเหตุ และการดูแลตนเองในเบื้องต้น เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดซ้ำใหม่และภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

สาเหตุที่ทำให้เกิด ‘ภาวะน้ำตาลต่ำ’

1.อาหาร

  • ไม่รับประทานอาหารตรงตามเวลาห่างจากเวลารับประทานยาหรือฉีดอินซูลินมากเกินไป
  • งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
  • รับประทานอาหารไม่คงที่ มากไป น้อยไป ในแต่ละมื้อ
  • มีสาเหตุทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติจากภาวะโรคทางกาย
  • ควบคุมอาหารเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม ทำให้ระดับยาหรืออินซูลินที่ใช้อยู่มากเกินไป
  • ทำงานหรือกิจกรรมนานเกินไปโดยไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา

ภาวะน้ำตาลต่ำ โรคเบาหวาน

2.ออกกำลังกาย

  • ออกกำลังกายโดยไม่รับประทานอาหารตามปกติ
  • ออกกำลังกายมากเกินไป

3.การใช้ยาหรืออินซูลิน

  • ฉีดอินซูลินในตำแหน่งซ้ำๆ ไม่ยอมเปลี่ยนตำแหน่ง
  • ปรับใช้ยาหรืออินซูลินเอง ไม่ใช้ตามที่แพทย์แนะนำปรับระดับยาหรืออินซูลินสูงกว่าที่แพทย์กำหนด
    4.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่ท้องว่าง

 

วิธีดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อมี ‘ภาวะน้ำตาลต่ำ’

เมื่อมีอาการสงสัยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำให้ปฎิบัติดังนี้

1.ให้รีบรับประทานอาหารทดแทนน้ำตาล เช่น

  • กลูโคสเม็ด 2-3 เม็ด
  • น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
  • ลูกอม 8 เม็ด
  • ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำหวาน น้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม1/2 แก้ว
  • นม 1 แก้ว
  • ส้ม หรือ กล้วย 1-2 ผล
  • น้ำตาลก้อน 2 ก้อน
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ

ภาวะน้ำตาลต่ำ โรคเบาหวาน

2.หากสามารถทดสอบระดับน้ำตาลปลายนิ้วได้

  • ให้ทดสอบหลังรับประทานภายใน 15 นาที ถ้าระดับน้ำตาลยังต่ำให้รับประทานซ้ำ และทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังรับประทาน 15 นาที ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีกควรรีบติดต่อโรงพยาบาลหรือแจ้งญาติเพื่อรีบนำส่งโรงพยาบาล
    หากไม่สามารถทดสอบระดับน้ำตาลเองที่บ้านได้แต่รู้สึกยังไม่ปกติ ให้รับประทานซ้ำและรีบติดต่อโรงพยาบาลหรือหรือแจ้งญาติเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

 

หากพบผู้ป่วย
มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ให้ประคองคนไข้นั่งศีรษะสูง
จากนั้นให้หยอดน้ำเชื่อมหรือน้ำหวานข้นๆ
2–4 ช้อนชา ช้าๆ ระวังสำลัก
และควรรีบติดต่อโรงพยาบาล
อย่างเร่งด่วน

 

การป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในครั้งต่อไป

  1. ควรทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาและปรับเปลี่ยนแก้ไขโดยปรึกษากับแพทย์ดูแล
  2. ในกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เช่น มีอาการแสดงของภาวะเจ็บป่วยทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เช่น ไข้สูง อาเจียน ถ่ายเหลว ซึมลง
  3. ควรมีอาหารสำรองติดตัวไว้ เผื่อในกรณีเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  4. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในภาวะท้องว่าง
  5. ผู้ป่วยที่รักษาโดยการฉีดอินซูลิน ควรเปลี่ยนตำแหน่งฉีดอินซูลินไปเรื่อยๆ
  6. การออกกำลังกาย ควรรับประทานอาหารตามปกติก่อนออกกำลังกายเตรียมอาหารสำรองไว้ในกรณีเกิดปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรวมทั้งเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อครอบครัวและโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาอยู่
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์