Shopping Cart

No products in the cart.

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดูแลอย่างไรไม่ให้เสี่ยง COVID-19

รู้หรือไม่? ‘ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง’ หรือ ‘ผู้ที่มีโรคประจำตัว’ ได้แก่ เบาหวาน ไตเรื้อรัง ความดัน หอบหืด และกลุ่มโรค SLE หากติดเชื้อโควิด-19 อาจมีอาการรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ดังนั้นการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในค่าที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาภูมิคุ้มกันของร่างกาย และที่สำคัญสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย

 

โรคเรื้อรังอะไรบ้างที่ควรระมัดระวัง

สำหรับโรคเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรระวังเป็นพิเศษในช่วงโควิด-19 ระบาด นั้น พญ.ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ อายุรแพทย์โรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อธิบายว่า “ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคความดัน โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และโรคที่จำเป็นต้องกินยากดภูมิต้านทาน เช่น กลุ่มโรค SLE กลุ่มโรคพุ่มพวง และกลุ่มโรคมะเร็ง”

หากติดโควิด-19 ทำไมถึงมีอาการรุนแรง

“ผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งโดยปกติแล้วภูมิต้านทานและการทำงานของเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักทำงานไม่ดีอยู่แล้ว หากได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย อาการจะมีความรุนแรงมากขึ้น ถึงขั้นปอดอักเสบ และเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

วิธีดูแลตนเองในช่วงโควิด-19

“ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองให้ดีเป็นพิเศษ ด้วยการรับประทานยาให้สม่ำเสมอ ไม่ควรขาดยา ไม่ว่าจะเป็น ยาเบาหวาน ยาความดัน ยาโรคไต หรือยาของกลุ่มโรคมะเร็ง หอบหืด ฯลฯ นอกจากนั้นควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการหมั่นออกกำลังกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ”

บริการของโรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยง

“นอกจากนั้นในปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ก็มีบริการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังถึงบ้านในช่วงโควิด-19 ระบาด ไม่ว่าจะเป็น บริการส่งยา ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และเจาะเลือดที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งช่องทางอำนวยความสะดวก เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้”

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
พญ. ธัญทิพย์ จงบุญญานุภาพ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์