Shopping Cart

No products in the cart.

ตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

ตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะหากเด็กมีปัญหาการได้ยินจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทั้งในด้านการพูดและการเรียนรู้ ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำ ดังนั้นการตรวจให้รู้ตั้งแต่ระยะแรก นำไปสู่การรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ

เด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน

  • มีประวัติญาติพี่น้องในครอบครัวหูตึง หูหนวก พูดไม่ชัด หรือเป็นใบ้ตั้งแต่เล็ก
  • มารดามีการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงท้อง 3 เดือนแรก เช่น หัดเยอรมัน
  • เกิดมารูปร่างหน้าตาผิดปกติ เช่น ไม่มีใบหู ไม่มีรูหู
  • คลอดก่อนกำหนด หรือแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือมีภาวะขาดออกซิเจนแรกคลอด
  • ภาวะตัวเหลืองรุนแรงในช่วงทารกแรกเกิด
  • ในช่วงวัยเด็กมีภาวะติดเชื้อบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อหู เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คางทูม เป็นต้น
  • ได้รับยาบางตัวที่เป็นอันตรายต่อประสาทหู
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคพันธุกรรม (ความผิดปกติของยีน)

เครื่องมือการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิด และเด็กเล็ก

  1. การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนของหูชั้นใน Otoacoustic Emissions (OAEs) เป็นการตรวจการทำงานของปลายประสาทรับเสียงในอวัยวะหอยโข่ง (หูชั้นใน) การตรวจทำโดยการใส่เสียงเข้าไปในหูขณะให้เด็กอยู่นิ่งๆ โดยให้เด็กฟังเสียง และวัดเสียงสะท้อนที่เกิดจากการทำงานของเซลล์ขนหูชั้นใน การตรวจทำง่ายใช้เวลาน้อย ไม่เจ็บปวด และสามารถทราบผลได้ทันที ผลมีความเชื่อถือได้มากกว่า 95%
  2. การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง Auditory Brainstem Response (ABR) ใช้ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางการได้ยินในเด็กเล็ก การตรวจใช้เวลานานประมาณ ½ ชั่วโมง เด็กต้องหลับสนิท และต้องติด electrode เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นผลมีความแม่นยำมากกว่า 98%

โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิด

  1. ทารกปกติ ตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดด้วย OAEs ครั้งแรกเมื่ออายุ 24 – 48 ชม. ถ้าผลไม่ผ่าน จะทำการตรวจซ้ำตอนอายุ 1 เดือน หากยังไม่ผ่านเด็กต้องได้รับการตรวจหูโดยแพทย์หู คอ จมูก และตรวจ ABR เพื่อการวินิจฉัย
  2. ทารกกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจทั้ง OAEs และ ABR

หากผลการตรวจ OAEs ไม่ผ่านครั้งแรก

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ขี้หูอุดตัน รูหูแคบ นิ่มมากมีพยาธิสภาพในหูชั้นกลางหรือประสาทรับเสียงเสีย ดังนั้นการที่ตรวจ OAEs ไม่ผ่านไม่ได้แสดงว่าเด็กหูตึง และต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อการวินิจฉัยหากพบความผิดปกติ จะได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย

ผลของการสูญเสียการได้ยิน ต่อพัฒนาการทางภาษาและการพูด

การเรียนรู้ทางด้านภาษาและการพูด เช่น พูดช้า พูดไม่ชัด พูดไม่สมวัย ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อทักษะทางด้านการสื่อความหมาย การเรียน การศึกษา สุขภาพจิต บุคลิกลักษณะการดำรงชีวิตในสังคม และการประกอบอาชีพ

การฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินและการพูด

มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กวัยเริ่มพูด เพราะคนเราเรียนรู้การพูดโดยการเลียนเสียงที่ได้ยิน ถ้าได้ยินชัดก็จะพูดชัด ได้ยินไม่ชัดก็จะพูดไม่ชัด ถ้าไม่ได้ยินเสียงเลยก็จะไม่พูด การฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน และการพูดควรเริ่มทำให้เร็วที่สุด

พฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กซึ่งอาจสังเกตได้

  • ไม่แสดงอาการได้ยินเสียง เช่น ผวา หรือมองหาเมื่อมีเสียงดัง
  • ไม่ค่อยทำเสียงอืออา หรือเล่นเสียง
  • ไม่หัดเลียนเสียงพูดและเสียงจากสิ่งแวดล้อม
  • หัดพูดคำที่มีความหมายช้ากว่าปกติ หรือไม่พูดเลย
  • ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ หรือไม่เข้าใจคำพูด
  • พูดได้น้อยกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกันหรือพูดไม่ชัด
  • ชอบจ้องหน้า จ้องปาก เวลามีคนพูดด้วย
  • ไวต่อการสัมผัส และการสั่นสะเทือน และมักจะตอบสนองต่อเสียงต่ำๆ เช่น เสียงตบมือ เสียงกลอง
  • ชอบใช้ท่าทาง ท่าใบ้ ในการสื่อความหมาย
  • หัวเราะ ร้องไห้ เสียงดังกว่าปกติ
  • เคยพูดได้ ต่อมาพูดน้อยลง หรือหยุดพูดเพราะประสาทหูเสื่อมมากขึ้น
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
อ. เกษรา เขมาวุฆฒ์
อ. เกษรา เขมาวุฆฒ์
นักแก้ไขการได้ยิน โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์