จากกรณีเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริเวณชุมชนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้เกิดควันพิษจากสารเคมี ‘สไตรีน โมโนเมอร์’ ซึ่งเป็นสารที่ก่ออันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวและเสี่ยงโรคมะเร็งได้
ตอนที่ 1 ตัวอย่างการรั่วไหลของสารเคมี ‘สไตรีน’ ในไทยและเทศ
สไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene Monomer: CAS RN:100-42-5) หรือสไตรีน เป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่ละลายน้ำและเบากว่าน้ำ ระคายเคืองต่อตา ระคายเคืองต่อผิวหนัง ห้ามหายใจสูดดมละอองไอของสาร และควรเก็บในที่เย็น
- เป็นสารไวไฟ ไม่เสถียรเพราะสามารถเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชันได้ง่าย โดยการทำปฏิกิริยารวมตัวกับสารโมโนเมอร์ชนิดเดียวกัน (Self-Polymerization) คือตัวเอง หรือต่างชนิดกัน ทำให้เกิดความร้อนและเกิดการระเบิดได้ ในการจัดเก็บสไตรีนโมโนเมอร์ ในภาชนะบรรจุต้องมีการเติมสารยับยั้งปฏิกิริยาเพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชัน เช่น สาร 4-เทอเทียรีบิวทิลแคทิคอล (TBC)
- เป็นสารที่มีความเสี่ยงจากการทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรง โดยอาจก่อให้เกิดการระเบิดได้เมื่อผสมกับอากาศ การให้ความร้อนทำให้เกิดแรงดันที่สูงขึ้น และมีความเสี่ยงสูงในการระเบิด ขณะอุณหภูมิสูง เมื่ออยู่ในอากาศจะทำปฏิกิริยากับอนุมูลไฮดรอกซิล และโอโชน ทำให้ปริมาณโอโซนลดลง
- เป็นสารที่ระเหยได้เร็ว ไอระเหย “หนักกว่า” อากาศ จึงจะแพร่กระจายไปตามพื้น (กรณีไอระเหย อาจไม่ได้ลอยตามกระแสลมบนอย่างที่คิด)
กรณีสารเคมี ‘สไตรีน โมโนเมอร์’ รั่วไหลในต่างประเทศ
อุบัติเหตุจากสไตรีนรั่วไหล (เหตุเกิดวันที่ 28 ส.ค. 2548) โดยสถานที่เกิดเหตุ คือ พื้นที่รอการขนส่ง ณ สนามบินลังเกน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดการรั่วไหลของสไตรีนโมโนเมอร์ จากส่วนของอุปกรณ์วาล์วนิรภัย (Safety Valve) ของถังบรรจุสารสไตรีนโมโนเมอร์ ขนาดบรรจุ 24,000 แกลลอน หรือ 90,000 ลิตร บนรถไฟขนส่งที่รอทำการขนส่ง
ข้อสันนิษฐานคาดว่า วาล์วนิรภัยของถังบรรจุเปิดออก เนื่องจากเกิดความดันสูงภายในถัง จากปฏิกิริยาโพลีเมอไรเซชันซึ่งเป็นปฏิกิริยาคายความร้อน ซึ่งอาจเกิดจากสารยับยั้งปฏิกิริยา TBC มีปริมาณไม่เพียงพอยับยั้งปฏิกิริยาหรือไม่มีการเติม ผลจากการเกิดอุบัติเหตุนั้น รัฐออกคำสั่งอพยพประชากรออกจากพื้นที่ในเขตรัศมีจากตัวถัง และประกาศเป็นเขตควบคุมตลอดรัศมี 1 ไมล์ และมีการปิดสนามบินชั่วคราว ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เข้าปฏิบัติงาน หรือผู้เข้าตรวจสอบเหตุการณ์ (ตำรวจ 2 นาย) ถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากสูดดมสไตรีนโมโนเมอร์โดยตรง ดังนั้นผู้มีหน้าที่ทำงานต้องผ่านการฝึกซ้อม และต้อง “สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย” ที่เหมาะสมก่อนเข้าปฏิบัติการ (เช่น แบบมีถังบรรจุอากาศแบบพกพา)
บทเรียนที่แตกต่างกันระหว่างไทยและเทศ
อุบัติเหตุจากสไตรีนรั่วไหล กรณีในประเทศไทย (เหตุเกิดวันที่ 5 ก.ค. 2564) ผลกระทบเกิดทันทีกับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีใกล้โรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว ขณะที่กรณีในประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุเกิดในพื้นที่รอการขนส่งของสนามบิน ซึ่งมีพื้นที่กันชน และไม่จัดเป็นพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยของประชาชน โดยเหตุในไทย มีบ้านผู้คนอยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรและอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ชุมชนที่ใกล้ชิดติดชานกรุง (ย่านบางนา ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร)
ตอนที่ 2 ระงับเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดจากสารเคมี
กรณีประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้วและผู้ทำงานในที่เกิดเหตุระยะฉุกเฉิน ในการอพยพผู้คนออกจากสถานที่เกิดเหตุ อันตรายที่เกิดขึ้นต่อผู้เผชิญเหตุในช่วงเฉียบพลันจะมากหรือน้อย ขึ้นกับการรับสัมผัสสาร
โดยขึ้นกับความรุนแรงของสารเคมี ขนาดของสารเคมี (คือใกล้แหล่งสารเคมีมากขนาดใด) และระยะเวลาการสัมผัส (คือระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในบริเวณนั้น) รวมถึงการป้องกันตนเองโดยเครื่องป้องกันอันตราย (ได้แก่หน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ เป็นต้น)
ผู้ทำงานใกล้จุดเกิดเหตุจะได้รับควันพิษขนาดมาก โดยเฉพาะหากไม่ใส่เครื่องป้องกันตนเองที่เหมาะสม และทำงานเป็นเวลานาน จึงควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่หน้ากากที่มีไส้กรองสารเคมี หรืออย่างน้อยเป็นชนิด N95
วิธีรับมือเบื้องต้น เมื่อสัมผัส-สูดดม ‘สไตรีน โมโนเมอร์’
- เมื่อสูดดม: ให้รับอากาศบริสุทธิ์ ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ หากหายใจไม่สะดวก
- เมื่อสัมผัสทางผิวหนัง: ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที ล้างออกด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- เมื่อเข้าตา: ล้างออกโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านในปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที และรีบไปพบแพทย์
- เมื่อกลืนกิน: ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากๆ และรีบไปพบแพทย์
อาการอันตราย เมื่อสัมผัส ‘สไตรีน โมโนเมอร์’
- ระบบหายใจ: การระคายเคืองระบบหายใจเรื้อรัง
- ผิวหนัง: เกิดแผลจากการระคายเคือง อาการแพ้เรื้อรัง
- ตา: ระคายเคืองต่อดวงตา ปวด และตาแดง
- กลืนกิน: การระคายเคือง และเป็นแผลไหม้ที่ปากและกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน และเซื่องซึม
ตอนที่ 3 ใครบ้างเสี่ยงต่อพิษสไตรีน?
กรณีผู้ผจญเหตุและประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว พิษสไตรีน มีทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง และพิษแบบการก่อมะเร็ง
ข้อควรปฎิบัติเบื้องต้น สำหรับผู้เผชิญเหตุในช่วงเฉียบพลัน
- ไม่ควรเป็นผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดชนิดอื่นๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบหรือวัณโรคปอด โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ถ้าผู้ใดมีอาการหอบ แน่นหน้าอก ไอ เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย มึนงงศีรษะมาก คันตามตัวมาก แสบตาแสบคอมาก ควรปรึกษาแพทย์
- อาการของกลุ่มอาการพิษสไตรีน คือ ปวด มีนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ เกิดจากการได้รับสารพิษเป็นจำนวนมาก
- ไม่ควรรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำในบริเวณปฏิบัติงาน หลังเข้าทำงานในพื้นที่ไฟไหม้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดตัวเองให้เรียบร้อยก่อนพบปะกับสมาชิกครอบครัว
- เมื่อเสร็จภารกิจ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายตามความเสี่ยงที่พบ และติดตามตรวจร่างกายเป็นระยะ ตามที่แพทย์กำหนด
- ถ้ามีอาการดังกล่าวและกลับไปอยู่ภูมิลำเนา ให้บอกแพทย์ที่ตรวจด้วยว่ามีการสัมผัสสารพิษด้วย สำหรับพิษเรื้อรัง ถ้ามีอาการผิดปกติ และสงสัยว่าอาจจะเกิดจากพิษสไตรีนให้ปรึกษาแพทย์
ตอนที่ 4 สิ่งจำเป็นต้องทำ! เมื่อสัมผัสสารพิษสไตรีน
คำถามจากผู้เผชิญเหตุสารเคมีโรงงานรั่วไหล คือ การตรวจสุขภาพในระยะเฉียบพลัน จำเป็นหรือไม่?
สถานการณ์ถัดจากวันที่เกิดเหตุ 1 วัน
กรมควบคุมมลพิษ ได้คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน จากรัศมี ใน 3 ระยะคือ ระยะ 1, 3 และ 5 กิโลเมตร ได้เป็นค่า 1,035, 86 และ 52 ppm ทั้งนี้ ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีน ที่กำหนดไว้มี 3 ระดับคือ ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน) ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) และระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)
‘สารสไตริน’ พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
ตามธรรมดาแล้ว สไตรีนเป็นสารที่เราสัมผัสกันอยู่บ่อยพอสมควร เช่น
- การรับประทานอาหารจากกล่องโฟมที่ทำจากสไตรีน
- สไตรีนถูกปล่อยออกมาระหว่างการใช้เครื่องถ่ายเอกสารในครัวเรือน (ควรปิดเครื่องเมื่อใช้เสร็จแล้ว และให้เครื่องอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเท)
การสัมผัสระยะสั้นๆ ร่างกายของคนที่แข็งแรงจะจัดการขับสารนี้ออกหมดได้ด้วยตนเอง หากมีผลมักเป็นผลจากการสัมผัสซ้ำๆระยะยาว ซึ่งค่อยควรระวังในคนที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งจากสารพิษอยู่เดิม แม้ในทางอาชีวเวชศาสตร์ จะมีการตรวจสารสไตรีนในปัสสาวะเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการเฝ้าระวังสุขภาพของคนทำงานที่สัมผัสสารนี้เป็นประจำในโรงงานอุตสาหกรรม (จึงต้องมีการตรวจค่าพื้นฐานของสารนี้ตั้งแต่ก่อนการรับเข้าทำงานรวมทั้งมีการตรวจติดตามซ้ำเป็นระยะ) แต่เป็นกรณีที่มีฐานคิดแตกต่างจากกรณีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมในชุมชน ดังเช่นเหตุตัวอย่างนี้
ใครบ้างคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
เป็นผู้ผจญเหตุ (ที่ไม่ใช่เหตุปกติในชีวิตประจำวัน) ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อาศัยในรัศมี 1 กิโลเมตร (หรือ 3 กิโลเมตร) ที่มีโอกาสได้รับสัมผัสสารนี้ในปริมาณมากเกินควร รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบหรือวัณโรคปอด โรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงมาก) หรือกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่กินยาบางอย่าง
ในระยะเฉียบพลัน (อ้างอิงตาม CCIS) เมื่อคุณมาพบแพทย์ ข้อมูลพื้นฐานทางคลินิกที่แพทย์จะใช้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ จะมีดังต่อไปนี้
- ค่าการทำงานของตับและไต (Baseline Liver and Renal Function Tests; LFT, BUN, Creatinine)
- ค่าการวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis; UA)
- ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count; CBC)
- ระดับของอะไมเลสและไลเปส (Amylase and Lipase Levels)
หากผู้สัมผัสสารมีอาการที่บ่ง “การระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ” อย่างมากพอ ผู้นั้นควรถูกเจาะตรวจระดับก๊าซในเลือดแดงและเอกซเรย์ปอด แบบตรวจติดตามเป็นระยะ (Monitor Arterial Blood Gases and Chest X-ray)
ทั้งนี้ การตรวจแล็บ เอกซเรย์ สารพิษสารเคมี ดัชนีดีเอ็นเอ ที่ซับซ้อนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสูงสุดเพื่อการวินิจฉัยโรคเสมอไป
หากกังวลหรือมีข้อสงสัย แพทย์จะใช้ “การซักประวัติอย่างมีแบบแผน” เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ และเป็นผลดีต่อสุขภาพกายและจิตใจของประชาชนผู้รับสารนั้นมากกว่า
ตอนที่ 5 ตรวจให้ชัดเจน! ว่าเราได้รับสารสไตรีนหรือไม่?
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้ตรวจจับการสัมผัสสารสไตรีน (Detecting Exposure) สามารถวัดได้ ทั้งในเลือด ปัสสาวะ และเนื้อเยื่อจากร่างกายของผู้สัมผัส ในระยะเวลาอันสั้น หลังได้รับสารระดับปานกลางถึงสูง
ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำหรับสารพิษและทะเบียนโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า การตรวจพบสารผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลจากการย่อยสลายสไตรีน (Styrene Breakdown Products; Metabolites) หรือสารเมตาบอไลต์ของสไตรีนในปัสสาวะ อาจบ่งชี้ว่า “คุณเคยได้รับสไตรีน” มาแล้วจริง โดยสามารถวัดได้ภายใน 1 วันถัดจากวันรับสารนั้น
ค่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมิน “ระดับหนักเบา” ที่แท้จริงของการรับสัมผัสที่เกิดขึ้นหยกๆแล้วนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ค่าสารเมตาบอไลต์เหล่านี้ ยังอาจพบได้เมื่อคุณสัมผัสกับสารอื่นๆอีกเช่นกัน อีกทั้ง พึงตระหนักว่า การตรวจพบสารนี้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้ทำนาย “ประเภท” ของผลกระทบ (พิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง หรือพิษแบบการก่อมะเร็ง) ที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพจากการสัมผัสครั้งนั้นๆได้ จำเป็นต้องมีประวัติและการสั่งสมข้อมูลทางทางคลินิก และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัยหรือคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง
แม้การตรวจติดตามค่าสารชีวภาพ (Biomarkers) จะมีความแม่นยำเชิงประเมินการรับสัมผัสสาร แต่ฐานข้อมูลความเกี่ยวข้องทางชีวภาพกับระดับความเป็นพิษนั้นยังมีข้อมูลอยู่น้อย พบว่า การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องในผู้คนในชุมชนนั้น มักไม่ค่อยได้ประโยชน์หรือไม่ค่อยได้ปฏิบัติจริง เนื่องจากมีแนวโน้มที่สารจะดูดซึมและขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว
เหตุการณ์ภัยพิบัติสารเคมี “กรณีประชาชนที่อาศัยบริเวณโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว พ.ศ. 2564” จึงดูจะมีความคล้ายคลึงเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนเทียบเคียงได้กับ “กรณีไฟไหม้บ่อขยะบนเนื้อที่ 153 ไร่ ที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2557”
โดยเหตุไฟไหม้ครั้งรุนแรงที่สุดของไทยในครั้งนั้น ทำให้เกิดแผนการเฝ้าระวังและดูแลผู้สัมผัสที่ได้รับผลกระทบ แสดงเป็นผัง ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
ผู้เป็นเจ้าภาพหลักในการระดมสรรพกำลังของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ผู้ทำงานสหสาขาวิชาชีพ และทีมกู้ภัยที่มาจากหลากหลายพื้นที่ ให้มาช่วยกันวางแผน เพื่อการจัดการดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนั้น มักคือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
กรณีนี้คงเหมือนกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมายในประเทศไทย ที่แม้จะมีวิธีป้องกันตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำกันให้ครบ และรอให้เกิดเรื่องแล้ว จึงค่อยมาสนใจกัน
ตอนที่ 6 ‘สไตรีน’ สารอันตรายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
สไตรีน เป็นสารตัวทำละลายอินทรีย์ที่ก่อความเสี่ยงสูงสุด ต่อคนทำงานในอุตสาหกรรมผลิตเรซินโพลีเอสเตอร์ หรือผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก
สารตัวทำละลายอินทรีย์สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนทำงานได้ 2 ช่องทางหลัก คือ ทางการหายใจ และการสัมผัสทางผิวหนัง ส่วนจากการรับประทานมักเกิดจากการปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายส่วนหนึ่งจะถูกขับออกในรูปเดิมทางลมหายใจ และบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ และอาจมีการสะสมในร่างกายได้
พิษแบบเรื้อรัง
ได้แก่ ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง การทำหน้าที่ของประสาทพฤติกรรมผิดปกติ โดยหากสัมผัสเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพอย่างถาวร และแม้ว่าหยุดสัมผัส อาการต่างๆก็จะไม่ดีขึ้น เช่น ภาวะสมองเสื่อม ภาวะ Chronic Encephalopathy ที่มีอาการปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สูญเสียความทรงจำระยะสั้น ไม่มีสมาธิ การทดสอบประสาทพฤติกรรมพบความผิดปกติ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบสมองฝ่อ เป็นต้น
ทั้งนี้การจะวินิจฉัยว่าพิษเรื้อรังนั้นเกิดจากสไตรีนนั้น ต้องมีการยืนยันการสัมผัส (เชิงปริมาณ และคุณภาพ) มีอาการทางคลินิกเข้าได้กับการทำลายระบบประสาทส่วนกลางแบบเรื้อรัง (เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง การทดสอบทางจิตเวช) มีการแยกโรคทางอวัยวะอื่นๆ รวมทั้งแยกโรคทางจิตเวชที่เป็นแต่เดิม ออกไปให้ได้ก่อน
พิษแบบการก่อมะเร็ง
การก่อพิษแบบพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง คือ การก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (Carcinogenesis) ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลายาวนานหลายปีหลังจากการสัมผัสสารพิษครั้งแรก จึงจะเกิดโรคมะเร็งขึ้นได้
ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อมะเร็งจากการสัมผัสสไตรีน (เป็นข้อมูลที่ยังขัดแย้งกันอยู่) ที่พบว่า อาจก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว? หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง? ได้นั้น ถึงแม้จะมีวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่เป็นตัวชี้บ่งการสัมผัส (คือกรณีที่สงสัยว่าสัมผัสจนก่อเกิดมะเร็ง) เรียก การวัดดัชนีดีเอ็นเอและโปรตีนแอดดักส์ (DNA and Protein Adducts) หรือวัดค่าการทำลายพันธุกรรมเซลล์ (Cytogenetic Damage) ได้ แต่ก็ไม่ใคร่จะมีใครนำมาใช้กันในทางคลินิกหรือในโรงพยาบาลทั่วๆไป
จะเห็นได้ว่า การจะพิสูจน์ว่า ‘สไตรีน’ เป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานด้านสุขภาพในใคร? ผู้ใด? นั้น เป็นเรื่องแสนยาก…จึงควรกันไว้ดีกว่าแก้
แหล่งอ้างอิง
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม. คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer). ตค. 2552.
- สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. ประกาศฉบับสำหรับประชาชนผู้เผชิญเหตุ “ในช่วงเฉียบพลัน” ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกึ่งแก้ว. วันที่ 6 กค. 2564.
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม. คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer). ตค. 2552.
- สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย. ประกาศฉบับสำหรับประชาชนผู้เผชิญเหตุ “ในช่วงเฉียบพลัน” ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนที่อาศัยบริเวณภัยพิบัติสารเคมีโรงงานบริเวณซอยกิ่งแก้ว. วันที่ 6 กค. 2564.
- ข่าวการจราจร สวพ. FM91 (7.01 น. วันที่ 6 กค. 2564). อ้างอิงข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรณีเหตุการณ์ไฟไหม้ ณ จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้ Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่.
- CCIS Volumn 172; edition 2017.
- ATSDR: Agency for Toxic Substances and Disease Registry. Public Health Statement: Styrene. June 2012.
- เอกสารประกอบการเรียนการสอนกลุ่มแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ โดยองค์กรหลักตามราชกิจจานุเบกษา กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.
- วชร โอนพรัตน์วิบูล. โรคจากสารตัวทำละลายอินทรีย์. ใน: อดุลย์ บัณฑุกุล บรรณาธิการ. ตำราอาชีวเวชศาสตร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ราชทัณฑ์; 2563.
- Davey MP. Solvents and hydrocarbons. Oregon Health and Science University.