มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer) เกิดจากเซลล์ของต่อมไทรอยด์ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งเซลล์มะเร็งมีการเติบโตขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้กลายเป็นก้อนและกระจายไปตามเนื้อเยื่อต่างๆ รวมทั้งเนื้อเยื่อข้างเคียง และกระจายไปที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยจะมีอาการแสดง ได้แก่ คลำเจอก้อนที่คอ ก้อนที่คอโตเร็วผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้รู้ตั้งแต่ระยะแรก นำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ทำให้เกิดมะเร็งไทรอยด์
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งไทรอยด์ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน
- ปัจจัยภายใน คือ ปัจจัยที่เกิดจากตัวผู้ป่วยเอง ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ โดยตัวผู้ป่วยอาจจะมีกรรมพันธุ์ เช่น พ่อแม่ หรือว่าพี่น้องสายตรง ที่มีประวัติเป็นมะเร็งไทรอยด์ หรือว่าในผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งคือมีก้อนเนื้องอกไทรอยด์อยู่เป็นระยะเวลานาน โดยที่เนื้องอกอาจจะเคยเป็นเนื้องอกชนิดปกติมาก่อน แต่ถ้าเก็บอยู่กับตัวผู้ป่วยนานๆ อาจจะมีการกลายพันธุ์ของตัว DNA ทําให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์เป็นก้อนมะเร็งขึ้นมาได้
- ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยได้รับการฉายแสง เคยได้รับสารกัมมันตรังสีจากการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งไทรอยด์ได้เช่นกัน
จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น มะเร็งต่อมไทรอยด์
ส่วนใหญ่มะเร็งไทรอยด์ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการมีก้อนที่ลําคอ มีก้อนโตเร็วผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนบริเวณตรงไทรอยด์หรือก้อนตรงกลางลําคอ ในผู้ป่วยบางคนอาจจะมาด้วยมะเร็งที่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองข้างคอแล้ว ถ้าผู้ป่วยมีก้อนผิดปกติโตขึ้นที่ลําคอ แนะนําให้ผู้ป่วยมาตรวจทุกราย
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งไทรอยด์ มีกี่วิธี?
เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาได้ทันสมัยมากขึ้น เราจะใช้การตรวจอัลตราซาวนด์ ซึ่งโรงพยาบาลไทยนครินทร์มีเครื่องอัลตราซาวนด์ที่มีความละเอียดสูง สามารถแยกเนื้อของตัวไทรอยด์ได้ว่าหน้าตาลักษณะเหมือนมะเร็งหรือไม่ หรือว่าเป็นลักษณะของตัวก้อนธรรมดา ถ้าอัลตราซาวนด์แล้วสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งหรือว่ามีลักษณะหน้าตาของตัวก้อนผิดปกติ ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะเอาชิ้นเนื้อจากก้อนไปตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์
สําหรับการรักษามะเร็งไทรอยด์ ในปัจจุบันรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยชนิดของการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ถ้าผู้ป่วยมีขนาดก้อนมะเร็งน้อยกว่า 1 เซนติเมตร หรือแค่ 1 เซนติเมตร แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์ออกเพียง 1 ข้าง แต่ถ้าผู้ป่วยมีขนาดของก้อนมากกว่า 1 เซนติเมตร หรือ 2 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีตัวมะเร็งหลายก้อน แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดตัวไทรอยด์ออกทั้งหมด ร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบข้างออก ในผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของตัวมะเร็งผิดปกติ เช่น มีการแตกออกจากต่อมไทรอยด์ หรือว่ามีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบข้าง ผู้ป่วยอาจจะได้รับการรักษาด้วยวิธีกลืนแร่ร่วมด้วย