Shopping Cart

No products in the cart.

ทอนซิลอักเสบ (TONSILLITIS)

‘ต่อมทอนซิล’ (Tonsillitis) เป็นเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลือง บริเวณด้านข้างของช่องปาก โคนลิ้น และอยู่หลังโพรงจมูก มีหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ปัญหาที่พบบ่อยของต่อมทอนซิล คือ ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือมีอาการโตมาก จนเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจหรือการกลืน

 

รู้จักอาการทอนซิลอักเสบ

อาการในรายที่เป็นเฉียบพลัน

พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในเด็กต่ำกว่า 10 ปี อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส คนไข้มักจะมาด้วยอาการไข้สูง ปวดศรีษะ กลืนเจ็บมาก ในเด็กอาจมีน้ำลายไหล หรืออาเจียนหลังทานอาหาร อาจคลำได้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโตร่วมด้วย บางครั้ง ถ้าการอักเสบของต่อมทอนซิล กระจายออกไป อาจเกิดหนองรอบต่อมทอนซิล (Peritonsillar Abscess)

ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

อาการในรายที่เป็นเรื้อรัง

จะมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ จากการอักเสบซ้ำบ่อย หรือต่อมทอนซิลโตขึ้น จนมีผลกับการกลืนอาหาร หรือการหายใจ มีภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

วิธีการรักษาทอนซิลอักเสบ

  • ปกติแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ น้ำยาบ้วนปาก อาจช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียได้บ้าง หรือการกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือ ครึ่ง – 1 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) บ่อยๆ ก็สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อในช่องปากได้
  • ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะให้ยาปฏิชวนะ ซึ่งควรจะรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 7-10 วัน ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ อาจต้องให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือและยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดดำ

 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหา
ทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ปีละหลายครั้ง
แพทย์จะพิจารณาการรักษา
ด้วยวิธีผ่าตัด


ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดทอนซิล

  • มีอาการอักเสบของต่อมทอนซิลบ่อยๆ ปีละหลายครั้ง หลายปีติดต่อกัน
  • ต่อมทอนซิลโตมาก ทำให้มีการอุดตันของทางเดินหายใจ มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือกลืนลำบาก
  • เคยมีฝีรอบต่อมทอนซิล ต้องรับการเจาะเอาหนองออก ควรนัดมาผ่าต่อมทอนซิลหลังจากหายอักเสบแล้ว
  • สงสัยเนื้องอก หรือมะเร็งของต่อมทอนซิล
  • ภาวะอื่นๆ เช่น มีเศษอาหาร หรือนิ่วในต่อมทอนซิล ทำให้เกิดการกลืนลำบาก

คำแนะนำและข้อควรทราบของผู้รับการผ่าตัดทอนซิล

  • ควรรับประทานอาหารเหลวหรืออ่อนประมาณ 1 สัปดาห์ เลี่ยงอาหารแข็ง หรือร้อนจัด เพราะอาจเพิ่มอาการเจ็บคอ และมีโอกาสทำให้เลือดออกจากแผลได้
  • หลีกเลี่ยงการไอ หรือขากเสมหะแรงๆ
  • อมน้ำแข็งบ่อยๆ ใน 1–2 วันแรกหลังผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้เสียงมากในสัปดาห์แรก ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

สำหรับกรณีที่มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด
ซึ่งพบได้ประมาณ 5% มักเกิดขึ้นในสัปดาห์แรก
ถ้าพบว่ามีเลือดออกเป็นจำนวนมาก
ควรพบแพทย์ทันที

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. มีนา วิสุทธิผล
พญ. มีนา วิสุทธิผล
แพทย์ประจำแผนกหู คอ จมูก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์