Shopping Cart

No products in the cart.

นิ้วล็อค (Trigger Finger) โรคฮิตของคนทำงาน

นิ้วล็อค (Trigger Finger) ภัยเงียบใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ต้องใช้นิ้วมือในการพิมพ์คีย์บอร์ด สมาร์ทโฟน หรือใช้ข้อมือขยับเมาส์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จึงมีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคได้ โดยอาการจะเริ่มจากการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว หากมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค (Trigger Finger)

เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้

นิ้วล็อค Trigger Finger

อาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระยะ

  • ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
  • ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
  • ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก
  • ระยะที่ 4 ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

ติดโซเซียลใช้สมาร์ทโฟนบ่อย ทำให้เกิด ‘นิ้วล็อค’ หรือไม่?

สำหรับคนที่ติดโซเชียล ถ้าใช้งานเยอะๆ ทั้งวัน เกร็งมากๆ ก็อาจจะทำให้ปวดขึ้นมาได้ ถ้ามีอาการปวดแล้ว ยังทนเล่นอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดนิ้วล็อคได้

โรคนิ้วล็อค

‘นิ้วล็อค’ รักษาอย่างไรดี

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : งดใช้งาน หรือพักการใช้งาน ประคบเย็น หรือน้ำอุ่น
  • รับประทานยา : ลดอักเสบ ลดบวม
  • ฉีดยา : วิธีนี้จะได้ผลค่อนข้างเร็ว อยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน หรือบางรายอยู่ได้นานกว่านั้น
  • ผ่าตัด : ในกรณีฉีดยาแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

นิ้วล็อค ปล่อยไว้ไม่รักษา มีโอกาสเป็นเรื้อรังหรือไม่

นิ้วล็อค ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นเรื้อรังได้ไหม จริงๆ แล้ว คนส่วนใหญ่จะไม่เรื้อรัง ถ้าเกิดยังสามารถขยับนิ้วได้บ้าง เพราะมักจะหายเองได้ แต่ว่ากรณีที่เป็นมาก ติดล็อคเยอะๆ แล้วไม่รักษาเลย จนกลายเป็นภาวะข้อติดแข็ง ก็อาจเป็นเรื้อรังได้

นิ้วล็อค Trigger Finger

การดูแลรักษาเบื้องต้นของอาการ ‘นิ้วล็อค’

  • พักการใช้มือ
  • ประคบเย็น เพื่อลดบวม
  • ทายาลดอักเสบ โดยทาแบบไม่ต้องนวด เพราะยิ่งนวด ยิ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็น
  • ดามนิ้ว ให้มันอยู่นิ่งๆ ก็ช่วยได้
  • รับประทานยาแก้ปวด จะช่วยได้ระดับหนึ่ง

โรคนิ้วล็อค

หากทำตามคำแนะนำทั้งหมดแล้ว
อาการปวดไม่ดีขึ้น ขยับนิ้วใช้งานไม่ได้
ให้รีบปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
เพื่อตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์