Shopping Cart

No products in the cart.

พฤติกรรมใด? ที่ทำแล้วเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังเรื้อรังอาจเป็นหนึ่งในอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะของโรคกระดูกสันหลังต่างๆ เช่น ภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังเสื่อม เนื้องอกของกระดูกสันหลัง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหลายคนมักเข้าใจผิดว่าโรคเหล่านี้เกิดได้เฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่อันที่จริงวัยรุ่นหรือวัยกลางคนก็มีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้เช่นเดียวกัน โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ทว่าพฤติกรรมใดบ้างล่ะ? ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลัง ถ้าอยากรู้ บทความนี้จะพาคุณมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

 

 

นั่งทำงานนานๆ เสี่ยงต่อ ‘โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท’

เรามาเริ่มกันที่พฤติกรรมแรกนั่นคือ การนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานสำหรับคนทำงานออฟฟิศ คนที่ต้องนั่งขับรถระยะทางไกล โดยหลงลืมที่จะหยุดพักและยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อบ้างเป็นครั้งคราว ต่างก็มีสิทธิ์ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่หักโหมยกของหนัก ๆ อยู่เป็นประจำ จนเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นกัน โดยอาการของโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทสามารถแบ่งได้ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ดังต่อไปนี้

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)

กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง:

มีผลต่อระบบประสาทส่วนเอวลงไปถึงขา ซึ่งในระยะเริ่มแรกจะมีอาการปวดหลังช่วงเอวแบบเป็น ๆ หาย ๆ ทว่าความปวดจะทวีมากขึ้นตอนยืดกล้ามเนื้อ ขณะก้มเงย หรือยืนเป็นเวลานาน และสำหรับผู้ป่วยที่อาการทรุดหนักขาทั้งสองข้างจะชา ตลอดจนเป็นอัมพาตได้เลยทีเดียว

กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทบริเวณช่วงคอ:

มีอาการปวดคอ ไม่สามารถขยับเขยื้อนคอได้ตามปกติ โดยในบางครั้งอาจปวดร้าวช่วงแขนทั้งสองข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง ลามไปจนถึงมีอาการชาที่ปลายนิ้วและฝ่ามือ

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)

นั่งไขว่ห้าง เสี่ยงต่อ ‘โรคกระดูกสันหลังคด’

พฤติกรรมการนั่งไขว่ห้างส่งผลให้เกิดการกดทับน้ำหนักตัวลงบริเวณก้นข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งหากนั่งไปนาน ๆ จะเริ่มมีอาการชา ปวดเมื่อย ตลอดจนส่งผลให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดหรือโค้งงอจนผิดรูปเอาได้ ดังนั้น ไม่แนะนำให้นั่งท่าไขว่ห้างขณะทำงาน แต่ให้นั่งหลังพิงพนักเก้าอี้แทน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดหลังในระยะยาวนั่นเอง

นั่งก้มหน้ามองจอนานๆ เสี่ยงต่อ ‘ภาวะกระดูกก้านคอเสื่อม’

การนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ มีผลทำให้สะบักหัวไหล่ทั้งสองข้างรู้สึกเมื่อยล้าคล้ายกับมีคนเอามือมากดทับเต็มแรง และในไม่ช้าอาการปวดหลังก็จะมาตามในท้ายที่สุด โดยสาเหตุนั้นมาจากการที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดอาการล้า เพราะต้องก้มหน้าหรือเงยคอเพื่อจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ จนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกสันหลังคอเสื่อมสภาพ ซึ่งเราสามารถป้องกันโรคกระดูกสันหลังนี้ได้ ด้วยการลุกออกจากเก้าอี้ทำงานเป็นครั้งคราว ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และวางหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ได้ระดับพอดีกับสายตาเพียงเท่านี้ก็เป็นอันใช้ได้

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)

รับประทานอาหารจนน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อ ‘โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม’

หากร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมพฤติกรรมการกินอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จึงมีบทบาทในการป้องกันโรคกระดูกสันหลังประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้คนที่รูปร่างผ่ายผอมแม้จะลดโอกาสการเกิดโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมลงได้ แต่หากยังกระทำพฤติกรรมเดิม ๆ เช่น การนั่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การนั่งผิดท่า หรือการออกกำลังกายอย่างรุนแรง เหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกสันหลัง อย่าง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาทได้ด้วยเหมือนกัน

แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลัง

เมื่อพบว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลังก็ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถเสียใหม่ หรือหากเริ่มมีอาการปวดหลังขึ้นมาในบางจุด แนะนำให้ทำการวินิจฉัยโรคกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที เพราะหากปล่อยปละละเลยจนอาการทวีความรุนแรงแล้ว วิธีการรักษาขั้นต้นอย่าง การทานยารักษา การกายภาพบำบัด การฉีดยา และการฝังเข็ม (Dry Needling) อาจไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้อีกต่อไป หากแต่ต้องใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope เท่านั้น จึงจะช่วยรักษาอาการของโรคกระดูกสันหลังให้ดีขึ้นได้

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated disc)

สรุป

โรคกระดูกสันหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานและผู้สูงอายุ ที่มักมีพฤติกรรมการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือการขับรถระยะทางไกล โดยไม่มีการหยุดพักเพื่อคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงปรับเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ เลย พฤติกรรมเหล่านี้มักเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคกระดูกสันหลัง ต่าง ๆ เช่น ภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังเสื่อม ฯลฯ นอกจากนี้การมีพฤติกรรมการยกของหนักบ่อย ๆ จนเกิดอุบัติเหตุ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรังด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อคุณเองหรือคนใกล้ตัวพบว่ามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกสันหลังก็ให้ปรับเปลี่ยนเสียใหม่ หรือหากพบว่าอาการปวดหลังไม่ยอมหายไปสักที แนะนำให้รีบเข้ามาปรึกษาและตรวจวินิจฉัยโรคกับเราที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ โดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเจ็บปวดจากโรคกระดูกสันหลังทรุดลงกว่าเดิม ตลอดจนสามารถหาแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมด้วยนั่นเอง

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์