องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ ‘อหิวาตกโรค’ เป็นภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ หากติดเชื้อจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ จากการเสียน้ำได้
อหิวาตกโรค เกิดจากอะไร อันตรายไหม?
อหิวาตกโรค (Cholera) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยอาจไม่มีอาการปวดท้อง สามารถก่อให้เกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ จากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการของอหิวาตกโรค
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ
- ชีพจรเต้นเร็ว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย
- สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ จากการเสียน้ำได้
ติดเชื้ออหิวาตกโรคได้อย่างไร
- ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน
- การรับประทานอาหารทะเลดิบ หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นสาเหตุของการระบาดทั่วไป
- การติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคลโดยตรง พบได้น้อยมาก
การรักษาอหิวาตกโรค
หากสงสัยว่าติดเชื้ออหิวาตกโรค ควรรีบไปพบแพทย์ทันที การรักษาเบื้องต้นมักใช้สารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และในกรณีที่รุนแรงอาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดหรือยาปฏิชีวนะ
การป้องกันอหิวาตกโรค
- รับประทานอาหารปรุงสุก สดใหม่
- เลี่ยงอาหารที่มีแมลงวันตอม
- ล้างมือให้สะอาด
- ถ่ายอุจจาระในสุขาที่ถูกสุขลักษณะ
- จัดการแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขอนามัย