มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) ถือเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งทุกชนิดในเพศชาย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยและทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่มีอาการให้เห็นเด่นชัด แต่จะแสดงอาการในระยะที่มะเร็งลุกลามแล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะหากตรวจพบไวตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสรักษาให้หายได้
ต่อมลูกหมาก คืออะไร
ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) คืออวัยวะที่ติดกับส่วนล่างของกระเพาะปัสสาวะและอยู่หน้าท่อลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ผลิตน้ำที่มีสารอาหารให้อสุจิและสารหล่อลื่นในท่อปัสสาวะ
มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- อายุ: มักพบมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี
- เผ่าพันธุ์: คนผิวดำ African American มีความเสี่ยงสูงกว่าชนชาติอื่น
- กรรมพันธุ์: ผู้ที่มีญาติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป เช่น หากบิดาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะเพิ่มความเสี่ยงให้บุตร 2.17 เท่า
- ปัจจัยอื่นๆ: เช่น การมีเพศสัมพันธ์, อาหาร, สูบบุหรี่ ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก อันตรายไหม
มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย แต่ข่าวดีคือกว่าร้อยละ 80 ของมะเร็งต่อมลูกหมากจะถูกตรวจพบในระยะที่มะเร็งยังจำกัดอยู่ที่ต่อมลูกหมากหรือบริเวณรอบๆ ซึ่งมีอัตราความสำเร็จในการรักษาหายขาดสูงเมื่อเทียบกับมะเร็งประเภทอื่นๆ อัตราการรอดชีวิต 5 ปีในสหรัฐอเมริกาสำหรับผู้ชายที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นสูงกว่า 99% กล่าวคือ โอกาสที่ผู้ชายจะเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากโดยทั่วไปค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมากที่มีความรุนแรงระดับสูงอาจจะต้องรีบให้การรักษาถึงแม้มะเร็งจะจำกัดอยู่ที่ต่อมลูกหมากก็ตาม
อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก
- กลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ แต่สามารถพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การคลำต่อมลูกหมากโดยแพทย์หรือการตรวจ PSA จากเลือด
- กลุ่มที่ 2 อาการเกิดจากมะเร็งที่มีขนาดใหญ่จนเบียดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยกลางวันและกลางคืน, ปัสสาวะไม่พุ่ง, ปัสสาวะไม่สุด ซึ่งอาการคล้ายกับอาการของโรคต่อมลูกหมากโตตามอายุ
- กลุ่มที่ 3 อาการเกิดจากมะเร็งที่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระดูกและต่อมน้ำเหลือง หากมะเร็งกระจายไปที่กระดูก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตามกระดูก หรือหากกระจายไปที่กระดูกสันหลัง อาจพบการกดทับเส้นประสาทข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาหรือขาอ่อนแรง ถ้ากระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองอุดตันอาจทำให้ขาบวมได้
ใครบ้างควรตรวจคัดกรอง มะเร็งต่อมลูกหมาก
แนะนำให้ตรวจ PSA (Prostate-Specific Antigen) ร่วมกับการคลำต่อมลูกหมาก เมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว หรือมีเชื้อสาย Black/African American ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปี
การตรวจ PSA คืออะไร?
- PSA คือการทดสอบที่วัดระดับของโปรตีนที่เรียกว่า Prostate-Specific Antigen (PSA) ในเลือด
- PSA เป็นโปรตีนที่ผลิตโดยเนื้อเยื่อในต่อมลูกหมากที่มีทั้งชนิดมะเร็งและไม่มะเร็ง โดยธรรมชาติแล้ว PSA จะพบได้มากในน้ำอสุจิซึ่งถูกผลิตขึ้นในต่อมลูกหมาก แต่มีปริมาณเล็กน้อยที่ไหลเวียนในเลือด
- PSA ที่สูงอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ภาวะอื่นๆ เช่น การโตของต่อมลูกหมากตามอายุหรือการอักเสบของต่อมลูกหมากก็สามารถเพิ่มระดับ PSA ได้เช่นกัน ดังนั้นการประเมินคะแนน PSA ที่สูงอาจจะต้องใช้เครื่องมือการตรวจอื่นๆ ช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก
หากการคัดกรองพบความผิดปกติ แพทย์จะใช้การตรวจ MRI (เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) เพื่อแยกแยะว่าผู้ป่วยรายใดควรได้รับการเจาะชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากเพื่อยืนยันการวินิจฉัยมะเร็ง
การรักษา มะเร็งต่อมลูกหมาก
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ
1. มะเร็งที่ยังไม่กระจาย
- เฝ้าระวัง (Active surveillance) ไม่ให้การรักษาทันที แต่มีการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงระยะของมะเร็ง หากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถเริ่มการรักษาได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งยังไม่ลุกลามและระดับความรุนแรงมะเร็งต่ำ (Gleason score)
- ผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Radical Prostatectomy) การผ่าตัดต่อมลูกหมากพร้อมเปลือกหุ้ม ท่อปัสสาวะส่วนต้นและถุงอสุจิออกทั้งหมด โดยการผ่าตัดอาจทำได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง, ผ่าตัดโดยกล้อง, หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
- ใช้รังสีบำบัด โดยการฝังแร่หรือฉายแสงที่ทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีนี้สามารถให้ผลหายขาดได้เทียบเท่ากับการผ่าตัด
2. มะเร็งที่กระจายไปอวัยวะภายนอก
การรักษาจะใช้ยาหรือการผ่าตัดอัณฑะในการการยับยั้งฮอร์โมนเพศชายเพื่อลดการเจริญเติบโตของมะเร็ง, เคมีบำบัด หรือ ยากลุ่มต่างๆ ซึ่งการรักษาผู้ป่วย่ในกลุ่มนี้จะไม่สามารถหายขาดได้เพียงแค่ชะลอการเติบโตของมะเร็ง
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แพทย์แนะนำให้ผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้รู้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้