Shopping Cart

No products in the cart.

Vital Beam

เครื่องเร่งอนุภาค (Varian; Vital Beam)

เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูง ที่สามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อน โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาที/ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
เทคนิคการฉายรังสี

Three Dimensional Conformal Radiotherapy (3D-CRT)

เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติ คือ การรักษาที่ใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นก้อนเนื้องอกและอวัยวะปกติในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยวิธี CT simulation จะทำให้ปริมาณรังสีกระจายอย่างสม่ำเสมอ มีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง และลดปริมาณรังสีที่จะกระทบเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ เซลล์มะเร็ง

Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT)

เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้ม คือ พัฒนาการอีกระดับของการฉายรังสี 3 มิติ (3D-CRT) สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีการที่ใช้ปริมาณรังสีที่มีความเข้มต่างกัน และยังประกอบด้วยลำรังสีขนาดต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้น ๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)

เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT มีการปรับความเข้มของลำรังสี สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี (MLC) จึงช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการขยับตัวของผู้เข้ารับบริการอีกด้วย รวมทั้งทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้นๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Radiosurgery

รังสีศัลยกรรม หรือรังสีร่วมพิกัด คือ เป็นการรักษาโดยการให้รังสีเอกซ์ปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทั้งบริเวณสมอง ไขสันหลัง(SRS/SRT) และบริเวณลำตัว (SBRT) เช่น ปอดและตับ โดยรังสีศัลยกรรมมีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป คือจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า นอกจากนี้ รังสีศัลยกรรมสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป

Stereotactic Radiotherapy (SRT)

การฉายรังสีปริมาณสูงจำนวน 3-7 ครั้งที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะ หรือไขสันหลัง เพื่อลดผลข้างเคียงจากวิธีฉายรังสีแบบครั้งเดียว แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่จำเพาะ ซึ่งทำให้สามารถจัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ

Stereotactic Body Radiation Therapy (SBRT)

การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้รังสีจำนวน 3-7 ครั้ง

Share