ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุในวัยเกษียณ เนื่องจากมีภาระทางสังคมที่ลดลง มีเวลาว่างและความพร้อมทางด้านการเงินที่มากขึ้น
องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ประเมินว่า ภายในปี พ.ศ.2573 จะมีนักท่องเที่ยวสูงวัยถึงประมาณ 611 ล้านคนทั่วโลก โดยนักท่องเที่ยวสูงอายุมักให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และคุณภาพของการบริการเป็นพิเศษ
แม้ว่าการเดินทางจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและความบันเทิงใจแก่ผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจากการท่องเที่ยวทั้งจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ และเสียชีวิต มากกว่าประชากรอายุน้อย
ผู้สูงอายุมักต้องใช้เวลาในการปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมใหม่ เช่น อุณหภูมิ หรือความชื้น ที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่อยู่อาศัยเดิม มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการเมาเหตุเคลื่อนไหว (Motion sickness) เมาเวลา (Jet lag) นอนไม่หลับ (Insomnia) และท้องผูก (Constipation) มากกว่า ในขณะที่อาจมีการตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อที่ลดลง หรือใช้เวลานานขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคต่างๆ แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ดังนั้นผู้สูงอายุ จึงควรมีการวางแผนและเตรียมพร้อมในการเดินทางท่องเที่ยวอย่างรอบคอบในประเด็นต่างๆ ดังนี้
การเตรียมตัวก่อนท่องเที่ยว สำหรับผู้สูงวัย
- วางแผนล่วงหน้า: วางแผนการเดินทางอย่างน้อย 2-3 เดือนล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวด้านสุขภาพ จองตั๋วเครื่องบินและที่พัก ทำเรื่องวีซ่า (ถ้าจำเป็น) และตรวจสอบมาตรการต่างๆ ในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง
- ปรึกษาแพทย์: ปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อตรวจร่างกายและประเมินความพร้อมในการเดินทาง รวมทั้งปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและพิจารณารับวัคซีนหรือยาที่จำเป็น
- เตรียมประกันการเดินทาง: ตรวจสอบประกันการเดินทางว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่ต่างประเทศและค่าใช้จ่ายในการส่งตัวกลับประเทศหรือไม่ หากไม่เพียงพอควรซื้อประกันเพิ่มเติม
- เตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์: เตรียมยารักษาโรคประจำตัว ยาแก้ปวด ยาลดไข้ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้เพียงพอ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ หมายเลขโทรศัพท์ และใบสั่งยาของแพทย์ประจำตัว โดยนำใส่ในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องบินหรือนำติดตัวไว้ตลอด
- เตรียมอุปกรณ์สำรอง: พิจารณานำอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต เช่น แว่นตา แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ช่วยฟัง ไปสำรอง
- ศึกษาข้อมูลสถานที่: ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไป เช่น สภาพอากาศ อาหารการกิน ภาษาท้องถิ่น และเตรียมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม
วิธีดูแลตนเองระหว่างเดินทาง สำหรับผู้สูงวัย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ: โดยเฉพาะเมื่อเดินทางในสภาพอากาศร้อนหรือแห้ง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย: หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน อาหารที่ทำทิ้งไว้นาน หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ
- สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสม: เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์: ป้องกันตนเองจากยุงและแมลงต่างๆ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง
- พักผ่อนให้เพียงพอ: ไม่ฝืนร่างกาย หากรู้สึกไม่สบายควรหยุดพักและอาจปรึกษาแพทย์ถ้าอาการไม่ดีขึ้น
คำแนะนำหลังกลับจากท่องเที่ยว
สังเกตอาการผิดปกติ หากมีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบไปพบแพทย์ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงแผนการเดินทางที่ผ่านมา และรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ที่กระทำ
แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงทางสุขภาพในหลากหลายด้านสูงขึ้น แต่ผู้สูงอายุก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยหากมีการวางแผนและเตรียมตัวเป็นอย่างดี อายุจึงไม่เป็นอุปสรรคในการสัมผัสความสุขจากการเดินทางท่องเที่ยว
หากผู้สูงอายุท่านใดมีแผนการเดินทางเร็วๆ นี้ อย่าลืมมาปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อรับคำแนะนำด้านสุขภาพก่อนการเดินทาง ให้การเดินทางของคุณราบรื่นและปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพที่อาจมารบกวนความสุขจากการเดินทางของคุณ ขอให้ทุกท่านปลอยภัยและมีความสุขในการเดินทางครับ
บทความโดย
นพ.ภณสุต หรรษาจารุพันธ์
แพทย์เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว
โรงพยาบาลไทยนครินทร์