‘นอนกรน’ เป็นภาวะความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจขณะหลับ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการนอนกรนระดับรุนแรง จนเริ่มส่งผลเสียต่อคุณภาพการนอน ไม่ว่าจะเป็น นอนกรนเสียงดัง สะดุ้งตื่น หายใจเฮือกกลางคืน ตื่นมาไม่สดชื่น รู้สึกอ่อนเพลีย ง่วงนอนระหว่างวัน ฯลฯ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ Sleep Test ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณเตือนอันตรายของโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น หากปล่อยไว้นานๆ อาจเสี่ยงแทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอนกรน เกิดจากอะไร
นอนกรน เกิดจากการที่อากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบขณะนอนหลับ มีการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อในลำคอ เช่น เพดานอ่อน หรือลิ้นไก่ ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น โดยการนอนกรน เป็นอาการแสดงหนึ่งของโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA ได้
นอนกรน อันตรายไหม?
นอนกรน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- นอนกรนธรรมดา (Primary Snoring) คือ อาการนอนกรนที่เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน อาจพบอาการหายใจแผ่วหรือหยุดหายใจขณะหลับได้แต่ไม่เข้ากับเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรค OSA
- นอนกรนอันตราย คือ นอนกรนที่มีภาวะหายใจแผ่ว และ/หรือหยุดหายใจขณะหลับเข้ากับเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยโรค OSA
นอนกรน แบบไหน? เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
สามารถสังเกตได้จากเสียงกรน และอาการร่วม ดังต่อไปนี้
เสียงกรน
- กรนเสียงดัง สม่ำเสมอ
- กรนดังสลับกับช่วงหยุดหายใจ บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจ หรือ Apnea
- สะดุ้งตื่น สำลักน้ำลาย ตื่นบ่อยระหว่างคืน เนื่องจากการหยุดหายใจ หรือทางเดินหายใจแคบ
อาการร่วม
- ตื่นเช้าปวดศีรษะ รู้สึกนอนไม่อิ่มถึงแม้ว่าระยะเวลานอนเพียงพอ จากการหลับไม่ต่อเนื่อง คุณภาพการนอนไม่ดี
- ง่วงนอนกลางวันมากผิดปกติ
- กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองตีบ
นอนกรน-หยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
นอนกรนร่วมกับโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่างและเป็นสาเหตุและความเสี่ยงของโรคต่างๆ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก โรคสมองเสื่อม
- ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง
- เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
- สร้างความรำคาญต่อผู้นอนร่วมห้อง เป็นปัญหาครอบครัว
นอนกรนระดับไหน ควรตรวจ Sleep Test
ตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เป็นการตรวจการทำงานหลายระบบของร่างกายขณะนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อตา ใบหน้า และขา (EOG, EMG) วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูกหรือปาก วัดรอบอกและรอบท้อง วัดระดับออกซิเจนในเลือด วัดระดับเสียงกรน และบันทึกวิดีโอ
แนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น เช่น นอนกรนเสียงดัง กรนเป็นประจำ สงสัยว่ามีการหยุดหายใจระหว่างนอน สะดุ้งตื่น หายใจเฮือกกลางคืน ผู้ที่มีอาการกรนร่วมกับรู้สึกเพลียตอนเช้า ง่วงนอนระหว่างวัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง หรือในบางรายที่อาจไม่รู้ตัวว่านอนกรน แต่มีปัญหาทำให้คนรอบข้างนอนไม่หลับ ก็ควรเข้ารับการตรวจเพื่อการวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
โรคหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น รักษาด้วยวิธีไหนบ้าง
- รักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือ CPAP เครื่องจะเป่าลมผ่านจมูกหรือปาก เพื่อถ่างทางเดินหายใจส่วนบนขณะหลับ
- รักษาด้วยเครื่องมือในช่องปาก (Oral Appliance) เป็นการใส่เครื่องมือทางทันตกรรม เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างมาด้านหน้า ไม่ให้ลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
- รักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจส่วนบน ขึ้นกับตำแหน่งที่มีการตีบแคบ เพื่อเพิ่มขนาดทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางกายวิภาค หรือไม่สามารถใช้ CPAP ได้
แนวทางการรักษา ข้อดี-ข้อเสีย แต่ละวิธีขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม
นอนกรน แก้ยังไง?
5 วิธีช่วยให้อาการนอนกรนดีขึ้น
- ปรับสุขอนามัยการนอน เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนตื่นนอนตรงเวลาสม่ำเสมอ
- ลดน้ำหนัก ในผู้ที่มีภาวะอ้วน เนื่องจากการสะสมไขมันรอบๆ คอ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลง
- ปรับเปลี่ยนท่านอน เช่น นอนตะแคง อาจช่วยได้ในบางราย
- หลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาระงับประสาท และยานอนหลับ ทำให้ทางเดินหายใจหย่อนมากขึ้น และควรงดสูบบุหรี่
- รักษาโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้จมูก ไซนัสอักเสบ โรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ