จากอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหน้าร้อน ส่งผลให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี ทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย และโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งล้วนเป็นโรคยอดฮิตหน้าร้อนที่ต้องระมัดระวัง และควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะบางโรคหากติดเชื้อรุนแรง อาจอันตรายถึงชีวิตได้
โรคที่มากับหน้าร้อน – อุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระติดต่อกัน โดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มักพบในอาหารปรุงไม่สุก ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งคนได้รับเชื้อเข้าไป มักมีไข้ ปวดท้อง ซึ่งเชื้อที่ได้รับสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้ได้ จึงทำให้มีอาการปวดท้องอุจจาระร่วง หรือการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ซึ่งหากเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะมีโอกาสทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้
โรคที่มากับหน้าร้อน หลายครั้งเกิดจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรค ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก สดใหม่ ไม่ค้างคืน โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะบูดเสียง่าย ไม่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ มีแมลงวันตอม และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
อาหารเป็นพิษ
โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อเข้าไป มักมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง มักไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจดื่มหรือให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง
โรคบิด
โรคบิด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Shigella (บิดไม่มีตัว) หรืออะมีบา (บิดมีตัว) ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค การติดเชื้อสามารถทำให้เกิดอาการไข้ ปวดท้องบิด ปวดเบ่งถ่ายไม่สุด ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย
อหิวาตกโรค
อหิวาตกโรค (Cholera) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยอาจไม่มีอาการปวดท้อง สามารถก่อให้เกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ จากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ไข้ไทฟอยด์
ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ถูกปนเปื้อน อาหารส่วนใหญ่ที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค คือ อาหารจำพวกนม ผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ และอาหารอื่นๆ ที่ถูกปนเปื้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ สัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นตามร่างกาย อาจมีหนาวสั่นได้
โรคพิษสุนัขบ้า
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (Rabies) ส่วนใหญ่มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน เช่น จากสุนัขและแมว โดยสามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก อีกด้วย ชึ่งหากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคชีนป้องกันและต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปี และเนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคชีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน เพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน