มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยและทั่วโลก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ส่วนใหญ่คือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารที่ไม่มีกากใย ฯลฯ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้นหากสังเกตพบว่าการขับถ่ายของตัวเองผิดปกติจากเดิม ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และการเสียชีวิตลดลงได้
อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 ซม. หากมีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกระยะเริ่มต้นมีขนาด 1-2 ซม. อาจทำให้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติมากนัก ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการแสดงชัดเจน เมื่อติ่งเนื้อหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 2 ซม.โดยระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการชัดเจน
- เจาะเลือดตรวจพบค่ามะเร็งลำไส้ผิดปกติ (CEA)
- มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- มีภาวะสูญเสียเลือดทางเดินอาหาร
- มีอาการถ่ายเป็นเลือด, ถ่ายดำ, อุจจาระมีเลือดปน
- มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย, ปวดหน่วงบริเวณทวาร, ปวดเบ่ง
- มีภาวะท้องผูกแบบเฉียบพลันและอุจจาระลำเล็กลง
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำเจอก้อนในท้อง ในบางกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่จะสามารถคลำก้อนได้ในช่วงท้อง และอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากการกดเบียดของก้อนมะเร็ง
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) และติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Colon Polyp) ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุ หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาจนหาย และลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคตได้
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
ลำไส้ใหญ่ในร่างกาย มีความยาว 1.5-1.8 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง (Colon) มีความยาว 1.5 เมตร และสำไส้ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน (Rectum) ยาว 15 เซนติเมตร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยจากตัวบุคคล
- ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานและผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง เป็นต้น ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกฮอล์ ภาวะไม่ได้ออกกำลังกาย โรคอ้วน และรับประทานผักผลไม้น้อย
- ปัจจัยจากตัวบุคคล โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในคนอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมักพบในคนไข้ที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) ทั้ง Crohn disease และ Ulcerative colitis รวมถึงคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติเกี่ยวกับโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (Personal history of Adenomatous polyp)
ใครบ้างควรตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้
- ผู้ที่มีประวัติลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- ผู้ที่มีประวัติติ่งเนื้อในลำไส้ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้ (Adenomatous polyp)
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น มีการตรวจโดยการเก็บอุจจาระดูเม็ดเลือดแดงแฝง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจดูลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ไม่แนะนำการเจาะเลือดตรวจดูค่ามะเร็งลำไส้ (CEA) เพียงอย่างเดียว
มะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็นกี่ระยะ
- ระยะที่ 0 มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ (Intramucosal carcinoma)
- ระยะที่ 1 มะเร็งผ่านเยื่อบุลำไส้ มายังชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (Submucosa) และชั้นกล้ามเนื้อ (Muscularis propria) ยังไม่มีทะลุเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และหรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เป็นต้น
มะเร็งลำไส้ใหญ่ รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง
- รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์จะตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกไป กรณีมะเร็งลุกลามในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเพื่อเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
- รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยรังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กรณีลุกลามมีโอกาสแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีรักษาใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
- รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรืออาจจะหลังผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของมะเร็งแต่ละบุคคลต่างกัน
การติดตามผลรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
ภายหลังรักษาครบตามกระบวนการแล้ว แพทย์ยังจะนัดตรวจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยในปีแรกอาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลังรักษาครบ 2-3 ปีไปแล้วอาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการนัดมาทุกครั้งแพทย์จะ ซักประวัติและทำการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด หรือเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติสายตรงหรือผู้ให้การดูแลผู้ป่วยมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมปรึกษาเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม