ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นภาวะอันตรายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายในเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาที และในปัจจุบันนี้พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าโรคนี้จะดูน่ากลัว แต่ถ้าเราดูแลตัวเองและหาทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากภาวะนี้ได้
นพ.อุฬาร วงศ์แกล้ว อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวไว้ว่า เมื่อเราพูดถึงโรคหัวใจ คนทั่วไปจะนึกถึงและกลัวภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ Heart Attack ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ภัยเงียบที่น่ากลัวและพบได้บ่อยกว่าคือ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ Heart Failure โดยพบได้ประมาณ 1-2% ในประชากรทั่วไป และมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้วเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงพบภาวะนี้ได้บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้
นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตจากภาวะนี้ ก็สูงมากกว่าโรคหัวใจขาดเลือดหรือมะเร็งหลายๆ ชนิด โดยมีอัตราการตายเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% และหากได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลบ่อยครั้ง เราจึงควรมาทำความรู้จักภาวะหัวใจล้มเหลวกันให้ดี เพื่อที่จะสามารถดูและตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างถูกต้อง
ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร?
ภาวะหัวใจล้มเหลว คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย หรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ มีผลทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องจากสมองและกล้ามเนื้อขาดเลือดไปเลี้ยง
นอกจากนั้น การที่หัวใจสูบฉีดไม่ดีทำให้เกิดการคั่งของเลือดในอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการบวมของแขนขา ใบหน้า รวมถึงมีการคั่งของเลือดในปอดเวลานอนราบ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนราบได้เป็นเวลานาน ต้องนอนศีรษะสูง และตื่นมานั่งหอบกลางดึกบ่อยๆ ในรายที่เป็นมากจะเหนื่อยหอบตลอดเวลา และไม่สามารถนอนราบได้แม้ช่วงเวลาสั้นๆ
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังอาจเกิดจากความผิดปกติของเยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือโรคของหลอดเลือด สาเหตุสำคัญคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง และสำหรับประเทศไทยโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติก (Rheumatic) ยังพบได้บ่อยพอสมควร
สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ การบริโภคแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน การใช้สารเสพติด เช่น ยาบ้า (Amphetamine) การได้รับสารเสตียรอยด์ การได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิด การติดเชื้อทั้งไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด การได้รับสารโลหะหนัก รวมทั้งโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานอย่างหนักเป็นเวลานาน เช่น โรคไทยรอยด์เป็นพิษ โรคโลหิตจางเรื้อรัง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคไตที่มีการคั่งของน้ำในร่างกายในปริมาณมากๆ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังมีภาวะที่พบไม่บ่อย แต่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวในคนอายุน้อย คือ การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทั้งแม่และเด็ก
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก็คือภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็นกลุ่มอาการ ไม่ใช่โรค ผู้ป่วยแต่ละรายมีการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ในการพิจารณาการรักษาจึงต้องให้การรักษาทั้งอาการ และโรคที่เป็นสาเหตุควบคู่กันไป โรคที่เป็นสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง ไทยรอยด์เป็นพิษ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หรือหัวใจขาดเลือด ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยัน และให้การรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐานการรักษาโรคนั้นๆ และควรหยุดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งยาที่เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
ในส่วนของภาวะหัวใจล้มเหลวเอง ถ้ามีอาการมากก็ควรได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล ควรได้รับการตรวจประเมินสภาพการบีบตัวของหัวใจ เพื่อแยกชนิดและระดับความรุนแรงของภาวะหัวใจล้มเหลวต่อไป ในรายที่มีการคั่งของน้ำและเกลือมาก อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาขับปัสสาวะ รวมทั้งมีการควบคุมการบริโภคน้ำและควบคุมปริมาณเกลือในอาหารร่วมด้วย และเมื่อผู้ป่วยดีขึ้นระดับหนึ่งแล้ว การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ โดยการทำกายภาพบำบัด ก็จะส่งผลต่อความแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยด้วย
การป้องกันทำได้หรือไม่?
เนื่องจากอุบัติการณ์ของภาวะหัวใจล้มเหลว จะพบมากขึ้นตามวัย ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาและให้การรักษาโรคในระยะเริ่มต้น จึงเป็นการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีประสิทธิภาพก่อนที่จะเกิดอาหารเหนื่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด ที่เป็นต้นเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวที่สำคัญ ภาวะโลหิตจาง ไทรอยด์เป็นพิษ โรคไต โรคลิ้นหัวใจตีบ/รั่ว ฯลฯ เหล่านี้สามารถตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายประจำปี
การละเว้นสารเสพติดต่างๆ
ได้แก่ สุรา ยาบ้า ยาแก้ปวด และสารเสตียรอยด์
ถือเป็นการป้องกันความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
ที่จะเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวเช่นกัน
รวมถึงหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด
ที่มีเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ผงชูรส ซึ่ง
ทำให้หัวใจและไตทำงานหนัก
นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ให้รู้และตระหนักถึงภาวะนี้ มาพบแพทย์เมื่ออาการยังเป็นไม่มาก ก็สามารถทำให้เกิดการค้นพบโรคได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ดี ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตของครอบครัว และความยืนยาวของชีวิตผู้ป่วยด้วย