การตรวจคัดกรอง มะเร็งปอด สำคัญอย่างไร?
มะเร็งปอด ยังคงติดอันดับต้น ๆ โรคร้ายที่พบในคนทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งผู้ป่วยจำนวนมากเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้เนื่องจากอาการแสดงในระยะแรกไม่สามารถตรวจพบได้ มักตรวจพบในระยะลุกลามซึ่งยากต่อการรักษา ปัจจุบันจึงมีวิธีตรวจมะเร็งปอดแบบเฉพาะ เพื่อค้นหาความผิดปกติหากสงสัยหรือมีอาการของมะเร็งปอด ทำให้เพิ่มโอกาสในการพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะก่อนลุกลามและนำเข้าสู่กระบวนการรักษา แต่สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง การตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจเอ็กซเรย์ปอดร่วมด้วยก็จะเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่ดี
มะเร็งปอด มีกี่ชนิด?
มะเร็งปอด แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer : NSCLC) และชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer : SCLC) โดยมะเร็งปอดชนิด NSCLC พบประมาณ 80% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยได้แก่ Adenocarcinoma ซึ่งพบมากที่สุด รองลงมาคือ Squamous cell carcinoma และ Large cell tumor โดยมักมีการเกิดโรคที่ช้ากว่า แต่มีโอกาสที่ท่านจะตรวจมะเร็งปอดแล้วพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเล็ก
ขณะที่มะเร็งปอดชนิด SCLC พบประมาณ 20 % ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยส่วนมากผู้ป่วยประมาณ 70-80% มักตรวจพบเมื่อมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ส่วนใหญ่พบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด เป็นชนิดมะเร็งที่แพร่กระจายเร็วและอาจสร้างสารเคมีบางอย่าง ทำให้เกิดการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) ในร่างกายได้ มะเร็งชนิดนี้มักตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี การตรวจมะเร็งปอดแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้เพิ่มโอกาสในการทราบและนำไปสู่การรักษามะเร็งปอดได้อย่างทันท่วงที
อาการมะเร็งปอด สัญญาณเตือนมะเร็งปอด
อาการมะเร็งปอด มีอะไรบ้าง? สังเกตอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
- อาการไอเรื้อรัง
- ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม
- มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบนเนื่องจากมีเลือดดำคั่ง ปวดกระดูก เป็นต้น
วิธีรักษา มะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอด ชนิด NSCLC
ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 1-3 ที่ยังไม่พบการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองภายในช่องอกฝั่งตรงข้ามหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า ซึ่งรักษาหลักเป็นการผ่าตัดและตามด้วยยาเคมีบำบัดในบางกรณี หากภายหลังการผ่าตัดพบว่ามีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง mediastinum หรือผ่าตัดมะเร็งออกได้ไม่หมด แนะนำการฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย โดยฉายรังสี 27-30 ครั้ง ด้วยการ ฉายรังสี ปรับความเข้มหมุนรอบตัว (VMAT) มักจำลองการฉายรังสีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulation) ชนิด 4 มิติ (4D-CT simulation)
ทั้งนี้ผู้ป่วยระยะที่ 3 บางรายอาจได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อก้อนมีขนาดเล็กลง โดยฉายรังสี 25-30 ครั้ง ด้วยการฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (VMAT) ความเข้มรังสี มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT Simulation
ส่วนผู้ป่วยระยะที่ 1 ที่ไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมพิกัดทดแทนการผ่าตัด (Stereotactic body radiotherapy, SBRT หรือ Stereotactic ablative radiotherapy, SABR) ฉายรังสีทั้งหมด 3-10 ครั้ง โดยปริมาณรังสีต่อครั้งมากกว่าการฉายรังสีมาตรฐาน มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation และมีการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีจริงทุกครั้ง
ส่วนกรณีผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองภายในช่องอกฝั่งตรงข้ามหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า ใช้วิธีการรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัดและยาภูมิคุ้มกันบำบัด ฉายรังสี 30-35ครั้ง ด้วยการฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (VMAT) มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation
สำหรับผู้ป่วยระยะที่ 4 การรักษาหลักคือ systemic treatment ได้แก่ ยาเคมีบำบัด, ยามุ่งเป้า หรือ Immunotherapy และมีการฉายรังสีเพื่อลดอาการของโรคจากมะเร็งบริเวณทรวงอกและตำแหน่งที่มีการแพร่กระจาย โดยทั่วไปฉายรังสีจำนวน 5-10 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน
วิธีรักษามะเร็งปอด ชนิด SCLC
ผู้ป่วยระยะที่ 1-3 การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ฉายรังสีจำนวน 30 ครั้ง วันละ 2 ครั้งหรือฉายรังสีวันละครั้งด้วยการฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว (VMAT) รังสีมักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation, การฉายรังสีบริเวณสมองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระจายมะเร็งไปสมอง ฉายรังสี 10 ครั้ง วันละครั้ง มักฉายแบบสามมิติทั่วไป
ผู้ป่วยระยะที่ 4 การรักษาหลักคือ systemic treatment ได้แก่ ยาเคมีบำบัดและยาภูมิคุ้มกันบำบัด กรณีผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดดี อาจพิจารณาฉายรังสีป้องกันมะเร็งกระจายไปบริเวณสมอง และฉายรังสีที่ก้อนที่หลงเหลือบริเวณทรวงอก โดยฉาย 10 ครั้ง มักฉายแบบสามมิติทั่วไป นอกจากนี้จะมีการฉายรังสีบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรค 5-10 ครั้ง เพื่อลดอาการจากมะเร็ง
สำหรับผลข้างเคียงจากวิธีรักษามะเร็งปอดด้วยการฉายรังสีระยะสั้นที่อาจพบ ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย กลืนติด กลืนเจ็บ เนื่องจากหลอดอาหารอักเสบ ปอดอักเสบจากการฉายรังสี เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉายรังสี เม็ดโลหิตต่ำโดยเฉพาะผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ส่วนผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจพบได้แก่ พังผืดในปอด ปวดบริเวณผนังทรวงอก โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ตรวจติดตามหลังรักษามะเร็งปอด
การตรวจติดตามระหว่างรับการฉายรังสี แพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติทุกสัปดาห์และอาจพิจารณาเจาะความสมบูรณ์เม็ดเลือด โดยภายหลังการฉายรังสีครบจำนวน จะต้องตรวจร่างกายและซักประวัติอาการผู้ป่วย 30 วันภายหลังการฉายรังสีและทุกๆ 3-6 เดือนจนครบ 5 ปี และหลังจากนั้นตรวจมะเร็งปอดซ้ำทุกๆ ปี โดยมักทำ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอก (CT Chest) และอาจมีการตรวจเอ็มอาร์สมอง (MRI Brain) ,สแกนกระดูก (Bone Scan) และPET/CT scan เพิ่มเติม เพื่อประเมินว่ามีการแพร่กระจายหรือกลับเป็นซ้ำของโรคหรือไม่