Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมข้อมูลและแนวทางการรักษาด้วยการส่องกล้อง

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของโลก และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การคัดกรองและตัดติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจโดยการส่องกล้องจึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และการเสียชีวิตลดลงได้

จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ในผู้ชาย 16.2 ต่อประชากร 100,000 คน และในผู้หญิง 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน โดยกว่า 90% มะเร็งลำไส้เป็นชนิด Adenocarcinoma ซึ่งเป็นผลจากเซลล์เยื่อบุในผนังลำไส้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ ที่เรียกว่า ติ่งเนื้อ หรือ โพลิบ (Polyp) ซึ่งติ่งเนื้อบางส่วนอาจโตขึ้นและพัฒนาจนกลายเป็นมะเร็งได้

ทั้งนี้ศูนย์โรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงมีคำแนะนำการตรวจคัดกรอง ข้อมูลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตัวเอง เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก รักษาทันที สามารถเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของโรคได้

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่ในร่างกายมนุษย์มีความยาว 1.5-1.8 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง (Colon) มีความยาว 1.5 เมตร และสำไส้ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน (Rectum) ยาว 15 เซนติเมตร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยจากตัวบุคคล
ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานและผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง เป็นต้น ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกฮอล์ ภาวะไม่ได้ออกกำลังกาย โรคอ้วน และรับประทานผักผลไม้น้อย

ปัจจัยจากตัวบุคคล โดยพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้นในคนอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมักพบในคนไข้ที่มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) ทั้ง Crohn disease และ Ulcerative colitis รวมถึงคนไข้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติเกี่ยวกับโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (Personal history of Adenomatous polyp)

มะเร็งลำไส้ใหญ่

ระยะที่ 0 มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ (Intramucosal carcinoma)
ระยะที่ 1 มะเร็งผ่านเยื่อบุลำไส้ มายังชั้นใต้เยื่อบุลำไส้ (Submucosa) และชั้นกล้ามเนื้อ (Muscularis propria) ยังไม่มีทะลุเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ไม่มีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และหรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ใหญ่ส่วนนอก ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด เป็นต้น

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

การผ่าตัด โดยแพทย์จัตีดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกไป กรณีมะเร็งลุกลามในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเพื่อเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กรณีลุกลามมีโอกาสแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีรักษาใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
เคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรืออาจจะหลังผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของมะเร็งแต่ละบุคคลต่างกัน

ติดตามผลรักษาต่อเนื่อง

ภายหลังรักษาครบตามกระบวนการแล้ว แพทย์ยังจะนัดตรวจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยในปีแรกอาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลังรักษาครบ 2-3 ปีไปแล้วอาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการนัดมาทุกครั้งแพทย์จะ ซักประวัติและทำการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด หรือเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติสายตรงหรือผู้ให้การดูแลผู้ป่วยมาด้วย เพื่อจะได้ร่วมปรึกษาเพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

สังเกตอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-8 ซม. หากมีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกระยะเริ่มต้นมีขนาด 1-2 ซม. อาจทำให้ผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติมากนัก ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการแสดงชัดเจน เมื่อติ่งเนื้อหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 2 ซม.โดยระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีอาการชัดเจน ซึ่งหากเจาะเลือดตรวจอาจพบค่ามะเร็งลำไส้ผิดปกติ (CEA) หรือพบภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก, มีภาวะสูญเสียเลือดทางเดินอาหาร, มีอาการถ่ายเป็นเลือด, ถ่ายดำ, อุจจาระมีเลือดปน
อีกทั้งผู้ป่วยบางรายมีท้องผูกเรื้อรังต้องใช้ยาระบายช่วย หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย, ปวดหน่วงบริเวณทวาร, ปวดเบ่ง มีภาวะท้องผูกแบบเฉียบพลันและอุจจาระลำเล็กลง รวมถึงน้ำหนักลดลงโดยหาสาเหตุไม่เจอ ในบางกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่จะสามารถคลำก้อนได้ในช่วงท้อง และอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากการกดเบียดของก้อนมะเร็ง

ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเกิดจากการอักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) และติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Colon Polyp) ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุ หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาจนหาย และลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคตได้

ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

จากการแนะนำของแพทย์มักพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีประวัติลำไส้อักเสบเรื้อรัง และมีประวัติตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ (Adenomatous polyp) ควรตรวจคัดกรองตั้งแต่ช่วงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป โดยการตรวจคัดกรองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น มีการตรวจโดยการเก็บอุจจาระดูเม็ดเลือดแดงแฝง, การส่องกล้องลำไส้ใหญ่, การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจดูลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ไม่แนะนำการเจาะเลือดตรวจดูค่ามะเร็งลำไส้ (CEA) เพียงอย่างเดียว

ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจภายในลำไส้ใหญ่ด้วยกล้องขนาดเล็ก เพื่อให้แพทย์สามารถเห็นสาเหตุเฉพาะที่ หรือรอยโรคในลำไส้ใหญ่ให้ชัดเจน โดยปัจจุบันเทคโนโลยีของกล้องตรวจลำไส้ใหญ่พัฒนาขึ้นมาก มีระบบการตัดแสงและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวินิจฉัยเนื้องอกในระยะเริ่มต้น ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบติ่งเนื้อ เนื้องอกหรือความผิดปกติในลำไส้ตั้งแต่ในระยะเริ่ม ผลการรักษาและป้องกันโรคจึงมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ทั้งนี้ อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยหากมีการตรวจพบและทำการรักษาทันทีกรณีมะเร็งอยู่เฉพาะที่เยื่อบุลำไส้ อัตราการรอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 70-90 % และหากมะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลือง อัตราการรอดชีวิต 5 ปี อยู่ที่ 50-70 % ส่วนกรณีมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี อยู่ที่ 10 % ดังนั้นการตรวจพบก่อนในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและสามารถติดตามเฝ้าระวังการเกิดเป็นซ้ำของมะเร็งได้

อย่างไรก็ตามมาตรฐานการแพทย์ปัจจุบัน สมาคมแพทย์ทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยแนะนำให้ส่องกล้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยมีอาการในผู้ป่วยกลุ่มต่อไปนี้

  •  คนทั่วไปที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ควรส่องกล้องประเมินสภาพและความผิดปกติในลำไส้ หากตรวจไม่พบความผิดปกติอาจพิจารณาตรวจซ้ำทุก 5-10 ปี
  •  คนที่มีอาการปวดท้อง ร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง
  •  คนที่มีรูปแบบการขับถ่ายผิดปกติ หรือมีท้องผูกสลับท้องเสีย
  • คนที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งในระยะเริ่มต้นอาจตรวจพบเม็ดเลือดแดงปนมาในอุจจาระ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจทำให้เกิดมีอาการถ่ายเป็นเลือดสีแดง หรือลิ่มเลือดได้
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเตรียมตัวส่องกล้องลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการใช้กล้องใส่เข้าไปทางทวารหนักเพื่อดูลำไส้ใหญ่ในกรณีที่พบความผิดปกติสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อเอาไปตรวจวินิจฉัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นติ่งเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องเป็น 1-3 วัน โดยรับประทานอาหารรสอ่อน ย่อยง่าย งดรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง รับประทานยาระบายตามคำสั่งแพทย์ งดน้ำงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้อง ทั้งนี้ในกรณี มียาบำรุงเลือด ยาละลายลิ่มเลือด จำเป็ฯอย่างยิ่งในการแจ้งแพทย์ก่อนทำการส่องกล้อง

ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่

หลังจากผู้ป่วยหลับสนิทแล้ว แพทย์จะนำกล้องซึ่งเป็นสายยางขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. มีความยาวมากกว่ากล้องส่องกระเพาะอาหารเล็กน้อย ใส่ผ่านทวารหนักเข้าไป ปลายกล้องจะมีหลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างระหว่างการตรวจ โดยแพทย์เริ่มตรวจดูตั้งแต่ทวารหนัก ลำไส้ใหญ่ทั้งหมดจนถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย หากเจอโรคหรือความผิดปกติ แพทย์ยังสามารถนำตัวอย่างเนื้อที่เห็น ออกมาตรวจได้ทันที
กรณีพบติ่งเนื้องอกขนาดเล็ก แพทย์ยังมีเครื่องมือในการตัดติ่งเนื้อออกเพื่อการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน โดยจะใช้เวลาเพิ่มเติมไม่เกิน 2-3 นาที การตัดติ่งเนื้อนี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ทั้งนี้หลังการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ อาจยังมีฤทธิ์ของยานอนหลับประมาณ 5-15 นาที ผู้ป่วยควรนอนพักจนร่างกายตื่นเต็มที่ จากนั้นแพทย์จะแจ้งผลการตรวจ

Share