Shopping Cart

No products in the cart.

ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง กระทบสุขภาพสะสมระยะยาว

หลายคนอาจกังวลกับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา และยังคงดำเนินอยู่ หรืออาจกลัวโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่อีกปัญหาสุขภาพที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม คือ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่กลับมามีปริมาณเกินค่ามาตรฐานพร้อมกับลมหนาว ซึ่งล่าสุด จากการรายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 อยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพสะสมในระยะยาว หากได้รับอย่างต่อเนื่อง

 

 

ค่าฝุ่น pm 2.5 00

แพทย์หญิงพัชนี แสงถวัลย์ อายุรแพทย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ อธิบายถึงผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น เมื่อได้รับปริมาณฝุ่น PM 2.5 ว่า “ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 คืออนุภาคฝุ่น  มีขนาดน้อยกว่า 2.5 ไมครอน มีการกำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศ คือ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”

กลุ่มเสี่ยง ที่ต้องระวัง ฝุ่น PM 2.5

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมฝุ่นจิ๋วนี้ถึงไม่หายจากประเทศไทย ต้องแยกก่อนว่า สาเหตุของฝุ่นมีแหล่งกำเนิดมาจาก 2 แหล่ง คือ

  • แหล่งกำเนิดปฐมภูมิ เช่น การคมนาคมขนส่ง, การเผาในที่โล่งแจ้ง, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ เช่น การปฏิกิริยาเคมีในอากาศโดยมีสารเคมีกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจนและแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท, แคดเมียม, อาร์เซนิก, โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

ปัจจัยที่ทำให้ PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ ยังคงมีแหล่งสร้างมลพิษทางอากาศซึ่งเรายังไม่สามารถควบคุมให้ปริมาณมลพิษทางอากาศจากแหล่งที่มาเหล่านี้ลดลงได้ รวมถึงสภาพความกดอากาศต่ำ ทำให้การเคลื่อนย้ายของฝุ่นมลภาวะทางอากาศไม่ถ่ายเทออกไปโดยง่าย”

ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องอะไรบ้าง

สัญญาณบ่งบอกร่างกายกำลังได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไประยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ เช่น

  • ต่อระบบผิวหนัง ทำให้มีปัญหาผื่นคัน ผื่นแพ้, ลมพิษ, ผิวหน้าเหี่ยวแพ้ง่าย และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย
  • ต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นภูมิแพ้, โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง, ทำให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, มะเร็งปอด
    ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง
  • มีผลต่อการพัฒนาการสติปัญญาของเด็ก
  • กระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกายในเด็ก และสามารถส่งผลถึงทารกในครรภ์มารดาทำให้เจริญเติบโตช้าหรือคลอดก่อนกำหนดได้

“ทุกคนทุกวัยมีความเสี่ยงต่อฝุ่น PM 2.5 ดังนั้น ควรป้องกันการรับฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายกันทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด, โรคหัวใจ ฯลฯ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี”

วิธีป้องกัน ฝุ่น PM 2.5

วิธีป้องกัน และดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 แนะนำ 3 วิธีหลักๆ คือ

  • ใช้หน้ากากที่มีคุณภาพ เช่น N95 หากไม่มีอาจใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น แต่การสวมใส่หน้ากาก ควรสวมใส่อย่างถูกต้อง คือ ควรสวมใส่ปิดให้แนบสนิทกับใบหน้าทุกส่วน
  • ควรอยู่ในอาคาร บ้าน หรือพื้นที่ปิดมิดชิดมากกว่าการอยู่นอกบ้านหรือในพื้นที่โล่ง เพราะจะมีโอกาสสัมผัสฝุ่นน้อยลง
  • ควรเปิดเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองที่มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น PM 2.5 ในกรณีที่ไม่มีการเปิดแอร์ ก็ควรเปิดพัดลมร่วมกับเปิดเครื่องฟอกอากาศ โดยปิดห้องให้มิดชิดไม่ให้อากาศภายนอกเข้ามาภายในห้อง”
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. พัชนี แสงถวัลย์
พญ. พัชนี แสงถวัลย์
แพทย์ประจำสาขาโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์