ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติด้านอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวน คือ ในบางช่วงเวลาผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติ หรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) แต่พออีกช่วงเวลาหนึ่งก็จะสลับไปมีอาการของภาวะซึมเศร้า (Depression) โดยภาวะอารมณ์ในแต่ละช่วงอยากคงอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยจะมีช่วงอารมณ์ปกติคั่นกลางได้ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงสลับไปมานั้น มักจะทำให้เกิดความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ทั้งในด้านอาชีพการงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง และด้านสังคม
อาการของโรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีลักษณเด่นสลับกัน คือ ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาการที่สังเกตได้เด่นชัดมีดังนี้
ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)
- รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานสูงมกกว่าปกติ
- อารมณ์ดีร่างเริงเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล อยู่ไม่นิ่ง
- โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็ว รุนแรง หงุดหงิด โกรธง่าย ไม่มีเหตุผล ขาดความยั้งคิด
- ทำกิจกรรมหลายกิจกรรมในคราวเดียวกัน และทำในปริมาณมาก
- คิดเร็ว พูดเร็ว มีการเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น เปลี่ยนเรื่องพูดบ่อยจนฟังไม่เข้าใจ
- มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน
- ประมาท ตัดสินใจได้ไม่ดี มีความผิดพลาดสูง ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ใช้เงินฟุ่มเฟือยมากขึ้น
ภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (Depression)
- รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย
- ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจ ร้องไห้ง่าย
- เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง
- ครุ่นคิดวิตกกังวลต่อสิ่งต่างๆ มองโลกในแง่ร้าย
- ไม่มีสมาธิ ทำให้ทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ
- ความจำไม่ดี
- นอนไม่หลับ หรืออยากนอนมากเกินไป
- มีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
- ทางชีวภาพ : เกิดความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองที่มีการทำงานในระดับที่ไม่ปกติ มักจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการใช้ยา
- ทางกรรมพันธุ์ : ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะญาติที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงทางสายเลือด เช่น พ่อแม่ หรือพี่น้อง แม้จะยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนแน่ชัด แต่ก็มีการศึกษายีนส์เกี่ยวกับการเกิดโรคอย่างต่อเนื่อง
- ปัจจัยอื่น : ตัวผู้ป่วยเองได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ความผิดหวังหรือเสียใจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลัน การเจ็บป่วยทางกาย หรือปัญหาความสัมพันธ์ต่อบุคคลใกล้ชิด เป็นต้น
การรักษาโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)
ผู้ป่วยไบโพลาร์ต้องรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์จ่ายให้อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากการรักษาด้วยยาจะช่วยในการปรัสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่ภาวะปกติ สามารถคยวบคุมสารสื่อประสาทไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกิดภาวะอารมณ์ผิดปกติหรือซึมเศร้า แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว แต่ผู้ป่วยไบโพลาร์ก็ยังควรมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ การหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน หรือขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะเกิดความเสี่ยงสูงต่อการกลับไปมีอาการพบโรคซ้ำอีก หรือมีอาการที่รุนแรงและหนักไปกว่าที่เคยเป็น
การป้องกันโรคไบโพลาร์
- ผู้ที่มีอาการไบโพลาร์ควรพบแพทย์และเข้ารับการรักษาสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนได้
- กินยาตามคำสั่งแพทย์ ไม่หยุดการรักษาหรือเลิกกินยากลางคัน เพราะคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว เพราะมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะกลับมาหรืออาการจะกำเริบแย่ลงกว่าเดิม
- ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมองและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
- งดดื่มสุราและงดสารเสพติดต่างๆ เช่น ยาบ้า สารกระตุ้นต่างๆ เพราะสารเสพติดเหล่านี้มีฤทธิ์ต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมองย่างรุนแรง ส่งผลให้อาการไบโพลาร์กำเริบอย่างรุนแรงได้
- ควรสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคไบโพลาร์ แม้ยังไม่มีอาการชัดเจน หรือแค่สงสัยว่ามีอาการไบโพลาร์ ก็ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง