Shopping Cart

No products in the cart.

ต้อกระจก (Cataract) ยิ่งสูงวัย…ดวงตายิ่งพร่ามัว

ต้อกระจก (Cataract) เป็นโรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวจนกระทบต่อการมองเห็น เมื่อจอประสาทตารับภาพได้ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยจึงมองเห็นภาพต่างๆ อย่างพร่ามัว

 

สาเหตุของโรคต้อกระจก

สาเหตุหลักที่ทําให้เกิดต้อกระจก คือ อายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าต้อกระจกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ช้าก็เร็ว แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 80% ต้อกระจกจะเกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย หรือจากวัยชรา โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเป็นต้อกระจกกันแทบทุกราย

ต้อกระจก อาการ

อาการของโรคต้อกระจก

  • มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ภาพเบลอ ภาพซ้อน
  • ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา
  • ดวงตามองเห็นในที่ที่มีแสงสลัวได้ดีกว่าแสงจ้า แพ้แสงจ้า
  • ต้องปรับแว่นตาบ่อย สายตาเปลี่ยนเร็ว
  • มองเห็นแสงไฟกระจาย

การรักษาต้อกระจก

โรคต้อกระจกในระยะแรก สามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ สวมแว่นกันแดด หรือการใช้เลนส์ขยาย ซึ่งสามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น แต่เมื่อต้อกระจกเริ่มกระทบต่อการทํากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจําวัน ควรทําการผ่าตัด

การรักษาต้อกระจก

การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Phacoemulsification เป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน เป็นการเจาะรูเล็กๆ แล้วใช้เครื่อง Ultrasound สลายเลนส์และดูดออก หลังจากเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออกแล้ว แพทย์จะใส่เลนส์เทียมเข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม ซึ่งเลนส์เทียมสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต ส่วนแผลผ่าตัดก็มีขนาดเล็กมาก จึงไม่ต้องเย็บแผล ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อย

วิธีดูแลดวงตา หลังผ่าตัดต้อกระจก

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องความสะอาด ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาโดนน้ำ เพราะอาจเกิดอาการติดเชื้อ ระวังการกระทบกระเทือนที่ดวงตา ให้ปิดฝาครอบตาขณะนอนหลับเพื่อป้องกันไม่ให้เผลอขยี้ตา ควรสวมแว่นกันแดดหรือแว่นกันลมทุกครั้งเมื่อออกไปในที่โล่ง และเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าตา รวมถึงหยอดยาตามที่จักษุแพทย์แนะนําอย่างเคร่งครัด ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแผลจะหายดีและปลอดภัยแล้ว

การดูแล หลังผ่าตัดต้อกระจก

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

ถึงแม้การรักษาโรคต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง Phacoemulsification จะเป็นวิธีรักษาที่ปลอดภัยมาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการอักเสบได้ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เช่น สภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอยู่หลังการรักษา หรือการดูแลทําความสะอาดที่ไม่ดีพอ ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้สึกปวดตามากตาแดง เคืองตา มีขี้ตามาก หนังตาบวมผิดปกติ การมองเห็นขุ่นมัว หากมีอาการเหล่านี้แนะนําให้รีบไปพบจักษุแพทย์ผู้ทําการผ่าตัดทันที

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. บุษบา จันทรวรเมท
พญ. บุษบา จันทรวรเมท
จักษุแพทย์ประจำ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์