Shopping Cart

No products in the cart.

ตอบทุกข้อสงสัย “วัคซีนโควิด-19”

วัคซีน Covid-19 ที่ใช้กันแพร่หลายในขณะนี้มีกี่ประเภท

  1. ชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)ทำจากเชื้อไวรัส Covid-19 ที่ถูกทำให้ตายและไม่ออกฤทธิ์ (ใช้ไวรัสทั้งตัว) แล้วจึงฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิ ได้แก่ วัคซีน Sinovac (จีน) และ Sinopharm (จีน)
  2. ชนิดไวรัสเวคเตอร์ (Viral Vector Based Vaccine)โดยสกัดเอาส่วนที่เป็นสารพันธุกรรมของไวรัส Covid-19 ที่เรียกว่า Gene (เอาเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Spike Protein Gene ซึ่งไม่เป็นอันตราย) ใส่เข้าไปในไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่เป็นอันตรายเช่นกัน (มีชื่อว่า Adenovirus) เมื่อฉีด Adenovirus ที่มี Gene ของเชื้อ Covid-19 ผสมอยู่เข้าไปในร่างกาย mRNA (ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Gene) จะแยกตัวออกมาและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ Covid-19 ได้แก่ วัคซีน AstraZeneca (อังกฤษ), Johnson&Johnson (อเมริกา) และ SputnikV (รัสเซีย)
  3. ชนิด mRNA (mRNA Based Vaccine)
    ทำโดยสกัดเฉพาะสารพันธุกรรมส่วน mRNA ของไวรัส Covid-19 ออกมา นำมาเคลือบด้วยชั้นไขมัน (Nano lipids) แล้วจึงฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิ ได้แก่ วัคซีน Pfizer (อเมริกา) และ Moderna (อเมริกา)
    (***ไม่สามารถฉีด mRNA ของไวรัส Covid-19 เข้าสู่ร่างกายโดยตรง เพราะจะถูกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจับทำลายก่อนที่จะไปกระตุ้นให้เกิดภูมิ จึงต้องใช้ไวรัสอื่นที่ไม่เป็นอันตรายเป็นตัวพาหะ หรือใช้ชั้นไขมันมาปกป้องไว้ก่อน)
  4. Protein-Based Vaccine
    โดยการสกัดโปรตีนบางส่วนของไวรัส Covid-19 เช่น Spike Protein ที่อยู่บนผิวของไวรัส (ตรงส่วนที่มีลักษณะคล้ายหนาม ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่เป็นสารพันธุกรรม) ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิได้แก่ วัคซีน Novavax (อเมริกา)

***ในประเทศไทยวัคซีนหลักที่ใช้ขณะนี้มีเพียง Sinovac และ AstraZeneca ส่วนวัคซีนอื่นอยู่ระหว่างรอการนำเข้า

ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดแตกต่างกันไหม

การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนจะดูจากความสามารถในการสร้างภูมิที่เรียกว่า Neutralizing Antibody และความสามารถในการป้องกันและลดความรุนแรงของโรค

ในแง่การสร้างภูมิและการป้องกันโรควัคซีน mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม จะมีประสิทธิภาพสูงมากเกิน 90% ซึ่งจากการใช้จริงในอิสราเอลในคนจำนวนมากยืนยันว่าเป็นจริง รองลงมาเป็นวัคซีน AstraZeneca ซึ่งพบว่าการฉีดในอังกฤษช่วงแรกที่ฉีดเพียงเข็มเดียวประสิทธิภาพยังไม่ดีนัก แต่หลังฉีดครบ 2 เข็ม ประสิทธิภาพขึ้นสูงถึง 80-90 กว่า% วัคซีน Johnson&Johnson ประสิทธิภาพปานกลางราว 65-70% แต่มีข้อดีที่ฉีดเพียงเข็มเดียวพอ (ส่วนมากวัคซีน Covid-19 จะฉีด 2 เข็ม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ได้ภูมิคุ้มกันสูงสุด ยกเว้น Johnson&Johnson ที่การฉีด 2 เข็ม ให้ผลไม่ต่างจากเข็มเดียว) ส่วนวัคซีน Sinovac ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า คือ ราว 50-70%

สำหรับวัคซีน mRNA ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี่ใหม่ล่าสุด ทำให้สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ประสิทธิภาพสูงและมีราคาค่อนข้างถูก แต่มีข้อเสียที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่าวัคซีนทั่วไป (-20°C ขึ้นไป)

อย่างไรก็ตามวัคซีนทุกชนิดแม้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออาจแตกต่างกัน แต่ทุกวัคซีนสามารถลดอัตราการเกิดปอดอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจมีความรุนแรง รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ และหากฉีดเป็นวงกว้างถึงระดับหนึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) สามารถลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในชุมชนลงได้ชัดเจน

ใครบ้างที่ควรฉีด / ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิด-19

หากเป็นไปได้ทุกคนควรได้รับการฉีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรังซึ่งหากป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสที่โรคจะกำเริบรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง

ส่วนในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ยังไม่ควรฉีด เนื่องจากกลุ่มนี้โรคจะไม่ค่อยกำเริบรุนแรง และข้อมูลการศึกษาวัคซีนในกลุ่มนี้ยังมีไม่มาก,อายุ 12-18 ปี ขณะนี้มีเพียงข้อมูลจากวัคซีน Pfizer เท่านั้นที่ฉีดได้ ในกลุ่มเด็กการฉีดอาจไม่ได้ประโยชน์ในแง่การลดอาการและความรุนแรงของโรค แต่จะมีประโยชน์ในแง่ลดการแพร่กระจายโรค เพราะแม้เด็กที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรงแต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

สตรีที่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ยังไม่ควรฉีด อาจรอให้อายุครรภ์เกิน 3 เดือน จึงค่อยฉีด

ผู้ที่กำลังเจ็บป่วย หรือมีโรคเดิมที่กำเริบอยู่หรือโรคยังไม่สงบ ควรทำการรักษาให้โรคสงบและมีอาการคงที่ก่อน หรือผู้ที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยา Warfarin (ถ้ามีเพียงยาต้านเกร็ดเลือด เช่น Aspirin สามารถฉีดได้เลย)หรือยากดภูมิต้านทาน กลุ่มนี้บางกรณีข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนยังไม่ชัดเจนนักจึงควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน

ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีนชนิดอื่นอย่างรุนแรงมาก่อน (Anaphylaxis) ควรแจ้งก่อน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาหากวัคซีนโรค Covid-19 ไม่มีส่วนประกอบใดที่เหมือนกับวัคซีนที่เคยแพ้ก็สามารถฉีดได้

ผลข้างเคียงที่พบหลังฉีดวัคซีน

สำหรับวัคซีนทุกประเภทสามารถมีผลข้างเคียงได้ จำแนกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง พบได้ราว 10-30% ได้แก่ ไข้ต่ำๆ  ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ง่วงนอน (แต่บางรายอาจมีไข้สูงได้) มักเกิดภายในช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 วันก็จะหายเป็นปกติ หลังจากนั้นสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตัวเดิมได้ตามกำหนด
  2. ผลข้างเคียงรุนแรง พบได้ไม่บ่อย (ราว 1:3-4 แสนราย) โดยเกิดภาวะแพ้รุนแรงที่เรียกว่า อนาฟิแลกซิส (Anaphylaxis) มีอาการผื่นลมพิษ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด มึนศีรษะ ถ้าเป็นมากอาจเป็นลมหมดสติ ความดันเลือดตก (Shock)  กรณีนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนแพทย์จะรีบให้การรักษาในทันที และพิจารณาเปลี่ยนวัคซีนชนิดใหม่ให้

ในบางครั้งยังอาจพบผลข้างเคียงที่ค่อนข้างจำเพาะของแต่ละวัคซีนได้อีก เช่น

  • วัคซีน mRNA อาจทำให้มีอาการคล้ายแพ้อาหารรุนแรง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • วัคซีน AstraZeneca อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมอง แต่พบได้น้อยโดยมีอุบัติการเพียง 1:3 แสน(มักพบในหลอดเลือดดำมากกว่า ซึ่งจะแตกต่างจากโรคหลอดเลือดสมองตีบทั่วไปที่พบในหลอดเลือดแดง) ส่วนใหญ่พบในคนอายุไม่เกิน 50 ปี ในชาวยุโรป และอเมริกามากกว่าชาวเอเชีย
  • วัคซีน Sinovac อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า ISRR (Immunization Stress Related Responses) โดยจะมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง ซึ่งอาจคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง แต่เมื่อตรวจเอ็กซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอสมองจะไม่พบความผิดปกติ มักเกิดใน 5-30 นาที หลังได้รับวัคซีน อาการจะเป็นชั่วคราวและหายเป็นปกติภายในไม่เกิน 1-3 วัน และมักพบในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ กลไกการเกิดยังไม่ชัดเจน สันนิษฐานว่าอาจเป็นปฏิกิริยาจากการกระตุ้นภูมิในส่วนที่เกี่ยวกับระบบประสาทและหลอดเลือด โดยภาวะนี้ยังอาจพบในวัคซีนตัวอื่นได้เช่นกันแต่อุบัติการไม่มากนัก

ในกรณีที่เป็นผลข้างเคียงจำเพาะของแต่ละวัคซีน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไปว่าสมควรได้รับวัคซีนเข็ม 2 ชนิดเดิม หรือควรเปลี่ยนชนิด ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนทุกประเภท ควรเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที

เชื้อกลายพันธุ์ แบบไหนอันตราย?

ในแง่ของเชื้อกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ, อินเดีย, บราซิลหรือแอฟริกาใต้ พบว่านอกจากที่เชื้อจะมีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงขึ้นแล้ว ยังพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิดต่อเชื้อกลายพันธุ์มีแนวโน้มลดลง  อาจมากหรือน้อยต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสและชนิดของวัคซีน เช่น ในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ วัคซีน mRNA อาจมีประสิทธิภาพลดลงจาก 90 กว่า% เหลือเพียง 70% หรือวัคซีน AstraZeneca ลดจาก 80 กว่า% เหลือเพียง 10% จึงควรมีการเฝ้าระวังให้ดีไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อหลายพันธุ์ แต่ถึงอย่างไรการฉีดวัคซีนก็ยังมีประโยชน์ ซึ่งแม้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจะลดลงในเชื้อกลายพันธุ์ แต่ก็ยังสามารถลดอัตราการเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ในระดับหนึ่งเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  • หากมีโรคประจำตัว ควรให้แน่ใจว่าอาการไม่กำเริบรุนแรง หรือมีอาการคงที่อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ก่อนฉีด โดยสามารถทานยาประจำได้ตามปกติ แต่หากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน
  • สองวันก่อนฉีด ควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายหนักๆ งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ให้ดื่มน้ำตามปกติไม่จำเป็นต้องงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ใส่เสื้อแขนกว้างเพื่อให้ฉีดได้ง่าย ฉีดแขนข้างที่ไม่ถนัด และหลังฉีดสองวันไม่ควรใช้งานแขนข้างนั้นหนัก
  • หลังฉีดเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่จัดไว้ราว 30 นาที หากมีอาการผิดปกติ เช่น ชา อ่อนแรง มึนงง แน่นหน้าอก หายใจขัด ผื่นแดง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
  • ถ้ามีไข้หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว ให้ทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรทานยาต้านอักเสบ เช่น Brufen, Celebrex, Arcoxia
  • ควรเว้นช่วงการฉีดวัคซีน Covid-19 ให้ห่างจากวัคซีนอื่น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อย่างน้อย 1 เดือน
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. พีระ ช้างแก้ว
นพ. พีระ ช้างแก้ว
แพทย์ประจำสาขาโรคไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์,ผู้อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์