Shopping Cart

No products in the cart.

ไข้เลือดออก…โรคร้ายจากยุงลาย

ไข้เลือดออก โรคระบาดในช่วงหน้าฝน ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากถูกยุงลายกัดแล้วมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว หรือมีคลื่นไส้อาเจียน อาจเสี่ยงเป็นไข้เลือดออก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไข้เลือดออก? พญ.อรวลี ดิษยะกมล แพทย์เฉพาะทางสาขาโรคติดเชื้อ นำวิธีการสังเกต การรักษา และวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก มาแนะนำค่ะ

 

ไข้เลือดออก เกิดจากอะไร

ไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเกิดจากการที่เราได้รับเชื้อจากยุงลายกัด ทำให้มีอาการของไข้เลือดออก พบบ่อยที่สุดในประเทศไทยในช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม–สิงหาคม ของทุกปี

ไข้เลือดออก อาการ

ทำไมโรคไข้เลือดออด มักระบาดในฤดูฝน

เนื่องจากตัวพาหะนำโรคคือยุงลาย ในช่วงฤดูฝนจะมีแหล่งน้ำขัง ทำให้พบยุงลายเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่พาหะนำโรคจะนำโรคมาสู่เราก็จะมากขึ้นด้วย จึงทำให้พบบ่อยในช่วงนี้

อาการความแตกต่างของ ‘ไข้หวัด’ และ ‘ไข้เลือดออก’ สังเกตได้อย่างไร

ไข้เลือดออกมักจะไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือบางคนอาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่จะไม่มีอาการของไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดธรรมดา โดยไม่มีอาการของทางเดินหายใจส่วนต้นอักเสบ คือ ไม่มีน้ำมูก ไม่มีเจ็บคอ และไม่มีไอร่วมด้วย

อาการ ไข้เลือดออก กับ ไข่หวัด ต่างกันอย่างไร

ความร้ายแรงของโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก จริงๆ แล้วมีทั้งอาการไม่รุนแรง คือมีไข้อยู่ประมาณ 3-5 วัน แล้วหายป่วย แต่ในบางคนก็มีอาการรุนแรงร่วมด้วยได้ คือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติในอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น เลือดออกตามไรฟัน ออกในช่องท้อง หรือตามผิวหนัง หรือถ้ารุนแรงเพิ่มมากขึ้นก็อาจมีภาวะช็อคได้

ทำไมในผู้ใหญ่ถึงรุนแรงกว่าในเด็ก

จริงๆ แล้วในผู้ใหญ่กับเด็ก ความรุนแรงของไข้เลือดออกไม่ต่างกัน คือสามารถพบได้ทั้งแบบไม่รุนแรง รุนแรงน้อย หรือรุนแรงมากได้ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ถ้ามีอาการแล้วมักจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อาจมีภาวะเสี่ยงทำให้เกิดภาวะช็อคได้ง่ายขึ้น

การวินิจฉัยโรคนี้เป็นอย่างไร

การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก จะสังเกตจากอาการที่แสดง คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว ร่วมกับตรวจทางห้องปฏิบัติการได้แก่ ตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ดูปริมาณเม็ดเลือดขาว ดูเกล็ดเลือด และตรวจเฉพาะเจาะจงเพื่อวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

แนวทางการรักษา

รักษาแบบประคับประคองอาการ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำเกลือแร่ถ้ายังรับประทานได้ แต่ถ้ารับประทานไม่ได้ก็จะให้น้ำเกลือ หากมีอาการผิดปกติก็จะมีการรักษาเพิ่มเติมต่อไป

การป้องกันไข้เลือดออกควรทำอย่างไร

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เพราะว่ายุงเป็นพาหะนำโรค
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายต่างๆ ในพื้นที่น้ำขังในบ้าน ป้องกันไม่ให้เกิดการวางไข่ของยุงลาย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่ไม่เคยติดเชื้อและคนที่เคยติดเชื้อแล้ว

ข้อดีวัคซีนไข้เลือดออก

ข้อดีของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

  • ป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกในครั้งต่อไปได้
  • ป้องกันอัตราการนอนโรงพยาบาล
  • ลดอัตราความรุนแรงของไข้เลือดออกชนิดรุงแรงได้

 

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. อรวลี ดิษยะกมล
พญ. อรวลี ดิษยะกมล
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์