Shopping Cart

No products in the cart.

หูตึง…ภาวะผิดปกติของการได้ยินในผู้สูงอายุ

‘หูตึง’ เป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากหูชั้นในเกิดการเสื่อมตามวัย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการได้ยิน โดยในคนที่มีความผิดปกติของการได้ยิน ลักษณะเสียงพูดจะผิดเพี้ยนไปในระดับที่มากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติของการได้ยินควรพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรักษา เพราะหากปล่อยไว้ อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเรื่องการสื่อสารระหว่างคนรอบข้างและครอบครัวได้

 

กลไกของการได้ยินเสียง

การได้ยินเสียงของคนเรานั้น เริ่มต้นเมื่อมีคลื่นเสียงจากการสั่นสะเทือนของอากาศผ่านเข้ามาในหูชั้นนอกและเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหู ทำให้เกิดการสั่นของเยื่อแก้วหูและส่งผ่านการสั่นสะเทือนต่อไปยังกระดูกรูปค้อน กระดูกรูปทั่งและกระดูกรูปโกลนในหูชั้นกลางตามลำดับ กระดูกรูปโกลนติดต่ออยู่กับก้นหอยของหูชั้นในจะส่งผ่านการสั่นสะเทือนเข้าไปในหูชั้นใน ซึ่งมีของเหลวและเซลล์ขนอยู่ การสั่นสะเทือนจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และถูกส่งผ่านเซลล์ขนไปสู่เส้นประสาทหูไปยังสมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ และแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน

หูตึง (hearing loss) อาการผิดปกติของการได้ยิน

การสูญเสียการได้ยินที่พบบ่อย

  1. การติดเชื้อของหูชั้นกลาง (Otitis Media) หรือหูน้ำหนวก เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว มักพบในเด็ก
  2. การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอึกทึก (Noise-Induced) เป็นสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินชนิดถาวร
  3. สูญเสียการได้ยินเนื่องจากวัยชรา (Presbyacusis) มีการสูญเสียการได้ยินในช่วงเสียงที่มีความถี่สูง

สาเหตุบางอย่างของการสูญเสียการได้ยิน

  1. ความผิดปกติแต่กำเนิดจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์
  2. มารดามีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์, คลอด
  3. การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เช่น โรคไข้สมองอักเสบ คางทูม งูสวัด เป็นต้น
  4. การได้รับยาบางตัวที่ก่อให้เกิดพิษต่อประสาทหู เช่น ยาต้านมะเร็ง ยาปฏิชีวนะบางชนิด เป็นต้น
  5. การประกอบอาชีพ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง
  6. อุบัติเหตุต่อศีรษะที่กระทบถึงประสาทหู
  7. โรคบางชนิด เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยิน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ โรคแพ้ต้านทานตัวเอง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคไขมันในเลือดสูง
  8. เสื่อมตามธรรมชาติ

หูตึง (hearing loss) อาการผิดปกติของการได้ยิน

อาการของการสูญเสียการได้ยิน

  1. ได้ยินเสียงเบาลง รู้สึกหูสองข้างได้ยินไม่เท่ากันหรือการรับฟังเสียงมีปัญหาเมื่ออยู่ในที่มีเสียงรบกวน
  2. ได้ยินเสียงพูดแต่ไม่สามารถเข้าใจคำพูดของผู้พูด
  3. ถามคำถามซ้ำๆ
  4. เปิดเสียงวิทยุหรือโทรทัศน์ดังกว่าคนที่มีการได้ยินปกติ
  5. ไม่สามารถเข้าใจเสียงคำพูดทางโทรศัพท์
  6. มีเสียงรบกวนในหูร่วมกับอาการหูอื้อ อาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย

การตรวจด้วยตนเองอย่างง่าย

  1. ถูนิ้วที่ข้างหู
  2. พูดเสียงกระซิบ
  3. เสียงเข็มนาฬิกาเดิน

หูตึง (hearing loss) อาการผิดปกติของการได้ยิน

การรักษา

การสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลาง สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา หรือการผ่าตัด ส่วนการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งมีผลทำให้ประสาทหูเสื่อม จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 2-3 สัปดาห์แรกหลังหูดับ อาจต้องใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยรับฟังเสียง

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
หัวหน้าแพทย์ประจำสาขาหู คอ จมูก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์