ภาวะกรดยูริกสูงและโรคเกาต์ (Hyperuricemia and Gout)
กรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ โดยเพศชายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพศหญิงมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผลจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี ทําให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรต (Urate Crystal) ในเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย
ประมาณร้อยละ 10-15 ของคนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงจะเกิดข้ออักเสบหรือโรคเกาต์ ซึ่งแบ่งเป็นระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน ระยะสงบ และระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (Chronic Tophaceous Gout) ซึ่งได้แก่ เกลือยูเรตที่สะสมบริเวณต่างๆ หากสะสมที่ผิวหนังจะเกิดเป็นตุ่มก้อน, สะสมในข้อทำให้ข้อถูกทำลายผิดรูปได้
นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ เกลือยูเรตสะสมในไตเกิดไตวายเรื้อรัง, ภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และมักพบร่วมกับภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง เป็นต้น การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติและการตรวจร่างกาย ร่วมกับระดับกรดยูริกในเลือดสูง การตรวจพบลักษณะของผลึกยูเรตสะสมจากอัลตราซาวน์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และการตรวจพบผลึกเกลือยูเรตจากน้ำไขข้อ
แนวทางการรักษาโรคเกาต์ (Gout)
การรักษาโรคเกาต์ประกอบไปด้วยวิธีไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับการใช้ยา ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง โดยการรักษาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
การรักษาโรคเกาต์โดยไม่ใช้ยา
- ลดน้ำหนักหากมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรลดแบบช้าๆ จนได้ดัชนีมวลกายที่เหมาะสม
- การรักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ การหยุดสูบบุหรี่
- ปรับเปลี่ยนยาที่มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น ยาขับปัสสาวะบางชนิด
- แนะนําให้ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวันในผู้ที่ไม่มีข้อห้าม เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจบางประเภท
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยงดหรือหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีน (purine) สูง ซึ่งพิวรีนจะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในร่างกาย
อาหารที่มีพิวรีนสูง
- เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ, ไส้, หัวใจ
- เนื้อแดง
- อาหารทะเล เช่น กุ้ง, หอย, ปลาซาร์ดีน, ปลาอินทรีย์
- น้ำเกรวี, กะปิ, ยีสต์, น้ำสกัดเนื้อ, ซุปก้อน, ปลาดุก
- ชะอม, กระถิน, เห็ด, ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ
- ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้, ดอกกะหล่ำ, ผักโขม, สะตอ, ใบขี้เหล็ก
- เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลฟรุ๊กโตส
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์
ผลไม้รสหวาน
- อาการที่รับประทานได้ตามปกติ
- นมสด, นมพร่องมันเนย, เนย, โยเกิร์ตไขมันต่ำ, น้ำเต้าหู้
- ข้าวชนิดต่างๆ ยกเว้น ข้าวโอ๊ต
- ผัก ผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากที่กล่าว
- ไข่
- ขนมปัง ขนมหวาน หรือน้ำตาล
- ไขมันจากพืช และสัตว์
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่มีโรคเกาต์กําเริบขึ้นภายหลังจากการรับประทานอาหาร ควรงดอาหารชนิดนั้นๆ ไป และควรปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยพิจารณาโรคร่วมอื่นๆ ด้วย
6. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่อข้อ หรือการออกกําลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากจะทําให้ข้ออักเสบกําเริบ
7. ขณะที่มีข้ออักเสบ ควรพักการใช้งานตำแหน่งดังกล่าว การประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการปวดบวมได้
การรักษาโดยใช้ยา
ประกอบไปด้วยการรักษา 2 อย่าง ได้แก่
1. ยาควบคุมอาการอักเสบ
ใช้รักษาการอักเสบเฉียบพลัน และป้องกันการอักเสบกำเริบระหว่างปรับระดับกรดยูริกให้ได้ตามเป้าหมาย ได้แก่ ยาโคลชิซิน (Colchicine), ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs; NSAIDs) และยาสเตียรอยด์ (Steroid)
2. ยาลดกรดยูริก
เป้าหมายของการรักษาคือ ลดระดับกรดยูริกในเลือดให้น้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในรายที่โรครุนแรง เช่น มีก้อนโทฟัสต้องลดระดับกรดยูริกให้น้อยกว่า 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากลดระดับกรดยูริกได้ตามเป้าหมาย ก็จะไม่เกิดข้ออักเสบ ก้อนโทฟัสจะค่อยๆ มีขนาดเล็กลงจนหมดไป ซึ่งมักใช้เวลารักษานาน ในปัจจุบันคำแนะนำส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้หยุดยา
1) ยาลดการสร้างกรดยูริก ได้แก่ ยาอัลโลพิวรินอล (Allopurinol), ยาเฟบบูโซสแตท (Febuxostat)
2) ยาเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ ได้แก่ ยาโปรเบเนซิด (Probenecid), ยาเบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone), ยาซัลฟินไพราโซน (Sulfinpyrazone)
โดยยาทั้งหมดนี้
แต่ละชนิดมีแนวทางการใช้
และผลข้างเคียงแตกต่างกัน
การเลือกใช้ยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
มากที่สุด