Shopping Cart

No products in the cart.

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาการแบบไหน ป้องกันอย่างไร

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่แพร่ติดต่อจากคนสู่คน ระบาดเป็นประจำทุกปี เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็น จมูก คอ หลอดลม และปอด โดยเชื้อจะลามเข้าไปที่ปอดจนทำให้เกิดอาการปอดบวมได้ พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

 

 

สายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ : มี 2 กลุ่มหลักที่ทำให้เกิดโรคในคน

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H1N1 และ H3N2) และสายพันธุ์ B (ตระกูล Victoria และ Yamagata)
  • เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มักมีการกลายสายพันธุ์เล็กน้อยตลอดเวลาทำให้ต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปีเพื่อผลการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
  • หากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการกลายสายพันธุ์มากจนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ก็จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาการแบบไหน

การติดต่อและแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่

  • เชื้อไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายจากเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายในระยะ 1-2 เมตร
  • รับเชื้อโดยตรงจากการจามหรือไอของผู้ป่วย
  • รับเชื้อทางอ้อมผ่าน ‘มือ’ ที่ไปสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ปุ่มกคในสิฟต์

ระยะเวลาที่เชื้อสามารถติดต่อไปยังผู้อื่น

  • ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการ
  • ระยะแพร่เชื้อประมาณ 7 วัน แต่อาจนานกว่านั้น ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการไอมากอยู่
  • ผู้ป่วยควรหยุดงาน หยุดเรียน เป็นเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายไข้ และไอเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

อาการไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

อาการของไข้หวัดใหญ่: จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน

อาการที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน

  • มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา
  • อาเจียนหรือท้องเดิน
  • ปกติจะมีไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อยๆ ลดลง แต่ยังมีอาการคัดจมูกและแสบคออยู่ ประมาณ 1 สัปดาห์จึงหาย

วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

อาการรุนแรงและโรคแทรกซ้อน

  • เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย
  • อาจพบอาการเยื่อหุ้มสมองหรือสมองอักเสบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลง
  • บางรายอาจมีอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว แน่นหน้าอกและอาจทำให้เสียชีวิตได้

การรักษาไข้หวัดใหญ่

  • หากยังมีอาการไม่มาก เช่น ตัวไม่ร้อนจัด และยังพอรับประทานอาหารได้ ให้รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล ยาละลายเสมหะ เป็นต้น และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณภูมิปกติ
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (ชนิดกิน) ซึ่งควรได้รับยาภายใน 48 ชม. หลังเริ่มป่วยซึ่งจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าได้ยาหลัง 48 ชม. ไปแล้ว
  • ห้ามกินยาแอสโพริน เพราะจะทำให้เกิดตับอักเสบรุนแรง (Reye Syndrome) ซึ่งเป็นอันตรายได้

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาการแบบไหน

ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไช้หวัดใหญ่ทุกปี เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการของไข้หวัด หลีกเสี่ยงไปในที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาดของโรค
  • ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไอ/จาม)
  • ล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยแอล์กอฮอล์เจลให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังการไอหรือจาม หรือการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ในที่สาธารณะ และหลังถอดหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  • ทิ้งทิชชูที่เช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือหน้ากากที่ใช้แล้วลงถังขยะที่มีฝาปิดมิคชิด
  • หลีกเสี่ยงการใช้มือขยี้ตาหรือใช้นิ้วแคะจมูก เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เชื้อโรคเข้าร่างกายได้ง่าย
  • ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ได้แก่ แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดหน้า
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี
  • ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบ หืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำนัด และเบาหวาน
  • ผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  • โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีอาการ
  • โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 90 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาการแบบไหน

 

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน
และลดความรุนแรงของ
ไข้หวัดใหญ่ได้

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. อรวลี ดิษยะกมล
พญ. อรวลี ดิษยะกมล
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์