Shopping Cart

No products in the cart.

โรคต่อมลูกหมากโต…ปัญหาสุขภาพของชายสูงวัย

โรคต่อมลูกหมากโต ปัญหาสุขภาพยอดฮิตของชายสูงวัย ซึ่งพบมากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ประมาณ 50% และในผู้ชายอายุเกิน 80 ปี กว่า 90% โดยสาเหตุของโรคเกิดจากต่อมลูกหมากที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดโตผิดปกติ จนไปบีบท่อปัสสาวะแคบลง ทำให้เกิดความผิดปกติของปัสสาวะ ทั้ง ปัสสาวะไม่พุ่ง แสบขัด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดบ่อย ปวดมาก และโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา

 

ต่อมลูกหมาก คืออะไร

‘ต่อมลูกหมาก’ เป็นอวัยวะที่มีเฉพาะในเพศชาย ทำหน้าที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ มีรูปร่างคล้ายเมล็ดเกาลัด ตำแหน่งในร่างกายคือห่อหุ้มอยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ไม่สามารถมองเห็นหรือคลำได้จากภายนอกร่างกาย

การตรวจและวินัจฉัย ‘โรคต่อมลูกหมากโต’

การวินิจฉัยอาศัยการซักประวัติและอาการที่มีเป็นหลัก โดยอาการมักเริ่มด้วยปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน ลำปัสสาวะอ่อนลงไม่พุ่ง ต้องเบ่ง รอนานกว่าจะปัสสาวะออกได้ ในบางกรณีเป็นมากจนมีภาวะแทรกซ้อนก็มีจะอาการแสดงบางอย่าง เช่น ปัสสาวะเจ็บขัด ติดเชื้อ มีไข้ ปัสสาวะเป็นเลือด บางรายมีอาการมากและเป็นเรื้อรังจนกระทั่งเกิดนิ่วในระบบปัสสาวะ หรือแม้กระทั่งไตวายได้
มีโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ นิ่วในระบบปัสสาวะ หรือแม้แต่มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ที่ช่วยวิเคราะห์จำแนกโรคให้จากประวัติและอาการ และพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการตามความจำเป็นเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ประเมินภาพอวัยวะภายในด้วย Ultrasound หรือ X-Ray เป็นต้น

แนวทางการรักษา ‘ต่อมลูกหมากโต’

สำหรับการรักษากรณีที่เป็นต่อมลูกหมากโต จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ อาการน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ในกลุ่มที่อาการน้อยถึงปานกลางการรักษาสามารถใช้การรักษาทางยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากไม่ได้ผลดีมากหรือมีอาการรุนแรง อันนี้รวมถึงกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น ปัสสาวะไม่ออก ติดเชื้อหรือเลือดออกจากต่อมลูกหมากแล้วเป็นซ้ำบ่อยๆ ไม่หายขาด ลักษณะนี้ก็ควรรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันวิธีการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตที่เป็นมาตรฐานสากล ก็คือการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตโดยการส่องกล้อง

การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ คืออะไร

การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านทางกล้องในโรคต่อมลูกหมากโต คือการเอาเนื้อเยื่อส่วนที่ขวางท่อปัสสาวะออก เพื่อให้ปัสสาวะไหลออกได้สะดวกขึ้น วิธีมาตรฐานก็คือการใช้ห่วงลวดไฟฟ้าเข้าไปตัดเนื้อต่อมลูกหมาก ใช้พลังงานจากไฟฟ้าจี้ห้ามเลือดและล้างเศษต่อมลูกหมากที่ตัดไปเก็บออกมาทางท่อปัสสาวะเป็นชิ้นเล็กๆ (TUR-P: Transurethral Resection of Prostate Gland)

ปัจจุบันมีทางเลือกในการทำการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตโดยการใช้เลเซอร์ที่เรียกกันว่า ‘เลเซอร์ต่อมลูกหมาก’ คำเต็มคือ Laser Resection หรือ Laser Vaporization of Prostate ซึ่งก็หมายถึงการส่องกล้องเข้าไปตัดทำลายเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่ขวางการไหลของน้ำปัสสาวะรวมถึงห้ามเลือดโดยใช้พลังงานความร้อนจากลำแสงเลเซอร์แทนการใช้ไฟฟ้า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เนื้อเยื่อตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดจะระเหิดหายไปพร้อมกับมีการหยุดห้ามเลือดไปด้วยได้ไปพร้อมกัน

ในประเทศไทยมีการใช้เลเซอร์รักษาต่อมลูกหมากมาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ชนิดของเลเซอร์ที่ใช้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงให้ตัดเนื้อได้รวดเร็วขึ้น ห้ามเลือดได้ดีขึ้น เนื้อเยื่อปกติข้างเคียงที่อยู่รอบ ๆตำแหน่งที่ทำการผ่าตัดรับพลังงานความร้อนที่กระจายออกไปลดลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้หลังผ่าตัดผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

อาการปวดต่อมลูกหมากแบบไหน? ต้องรีบรักษาด้วยวิธีส่องกล้อง!!

ข้อบ่งชี้ในการรับการรักษา คือ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือดหรือติดเชื้อบ่อยๆ โดยแพทย์วินิจฉัยชัดแล้วว่าเหตุของอาการนั้นเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต สำหรับขนาดของต่อมลูกหมากไม่ถือเป็นข้อจำกัดในการรักษา จะลูกหมากเล็กหรือใหญ่ก็รับการรักษาได้เหมือนกัน

ส่องกล้องด้วยลวดไฟฟ้า VS เลเซอร์ แตกต่างกันอย่างไร

ข้อดีชัดเจนของเลเซอร์ คือห้ามเลือดได้ดีกว่า ดังนั้นผู้ป่วยเสียเลือดน้อยกว่าและความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า ทำให้สามารถเอาสายสวนปัสสาวะออกหลังผ่าตัดได้เร็วกว่าเดิม จากปกติก็ 3-5 วันก็จะเหลือสัก 1-2 วัน ดังนั้นในภาพรวมก็คือ ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก หรือติดเชื้อหลังผ่าตัดก็ลดลงไปด้วย ข้อเสียของเลเซอร์ คือราคาค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และเนื่องด้วยการใช้พลังงานเลเซอร์ จะทำให้เนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการถูกสลายไปจนหมด ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งเนื้อเยื่อไปตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาจะไม่สามารถทำได้

หลังผ่าตัดต่อมลูกหมากโต ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

หลังจากทำผ่าตัดและนำสายสวนปัสสาวะออกแล้วสามารถกลับบ้านได้ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและยาระบายป้องกันท้องผูกให้ สามารถทำกิจวัตรประจำวันทั่วไปได้ ยกเว้นกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนต่อแผลภายในซึ่งอาจทำให้เลือดออก ได้แก่ การออกกำลังกาย การยกของหนัก การขี่จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ นั่งยองๆ หรือมีเพศสัมพันธ์ หลังจากผ่าตัด 2 สัปดาห์-1 เดือน จะสามารถทำทุกอย่างได้ตามปกติ

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. พิมพ์พล หงษ์ทอง
นพ. พิมพ์พล หงษ์ทอง
ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์