Shopping Cart

No products in the cart.

วินิจฉัยอาการปวดหลังตรงจุด…ด้วยการทำ MRI กระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากการทำงานเป็นเวลานาน ก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟน ยกของหนัก แม้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินยาแก้ปวด ทำกายภาพแล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าอาการจะดีขึ้น ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาสาเหตุอย่างละเอียด ด้วยการทำ MRI กระดูกสันหลัง หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังได้อย่างตรงจุด ปลอดภัย แม่นยำ ไม่เจ็บ และทราบผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การตรวจด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla คืออะไร?

การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือการตรวจด้วยเครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เทคนิคการสร้างภาพทางรังสีวิทยา เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค และติดตามผลการตรวจรักษา โดยเครื่องที่ใช้ตรวจมีการปล่อยสนามแม่เหล็กที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็ก 3 เทสลา (3.0 Tesla) และคลื่นวิทยุเข้มข้นสูงออกมา ทำให้เห็นภาพเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยอาการผิดปกติได้อย่างมีคุณภาพ มีรายละเอียดและความคมชัดสูง โดยเฉพาะสมอง หัวใจ กระดูก กล้ามเนื้อ และส่วนที่เป็นมะเร็ง ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการตรวจด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla นี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แก่ร่างกาย และไม่มีอันตรายจากรังสีตกค้าง

MRI กระดูกสันหลัง ด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla

การตรวจกระดูกสันหลังด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla

เครื่อง MRI 3 Tesla สามารถใช้ตรวจโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังได้ค่อนข้างหลากหลาย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยแพทย์จะทำการซักประวัติและสั่งตรวจด้วยเครื่อง MRI เพิ่มเติม ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังที่ต้นเหตุได้

อาการปวดแบบไหนที่ควรตรวจ MRI กระดูกสันหลัง

  • ปวดคอ รุนแรง
  • ปวดหลังเรื้อรังนานหลายสัปดาห์
  • ปวดหลังร้าวลงขา ชาลงแขนหรือลำตัว
  • ขาลีบ แขนหรือขาอ่อนแรง
  • แขนขากระตุก ควบคุมไม่ได้
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • ควบคุมปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้

อาการปวดแบบไหนต้องทำ MRI กระดูกสันหลัง

ข้อดีของการ MRI กระดูกสันหลังด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla

  • สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและบอกขอบเขตของโรคได้ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคต่อไปได้
  • ให้ภาพละเอียด คมชัด แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
  • ไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสีโดยไม่จำเป็น เพราะการตรวจด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อและไม่ใช้คลื่นรังสีเอกซเรย์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย
  • เป็นการตรวจที่ไม่ใช้รังสีเอกซ์จึงใช้ตรวจได้อย่างปลอดภัยแม้ในผู้ป่วยเด็กหรือผู้ป่วยตั้งครรภ์

MRI กระดูกสันหลัง

ก่อนตรวจด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla ต้องเตรียมตัวอย่างไร

  • ไม่ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจ ยกเว้น การตรวจในช่องท้อง
  • วันที่มารับการตรวจ ควรงดใช้เครื่องสำอางบางชนิดก่อนตรวจ เช่น อายแชโดว์ มาสคาร่า เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้ รวมถึงต้องนำโลหะต่าง ๆ ออกจากตัว เช่น ต่างหู เครื่องประดับ เป็นต้น ในกรณีสำหรับผู้ที่มีการจัดฟัน การทำ MRI ตรวจในช่วงบริเวณ สมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟันออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ
  • วันตรวจควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คน
  • ผู้ป่วยและครอบครัวควรอ่านเอกสารแนะนำ “การปฏิบัติตัวเมื่อเข้ารับการตรวจโดยเครื่อง MRI” และซักถามเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวินิจฉัยให้เข้าใจ

 

ขั้นตอนในการตรวจด้วยเครื่อง MRI 3 Tesla

ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 – 60 นาที ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ การตรวจจะแบ่งเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดใช้เวลานาน 3 – 5 นาที

MRI กระดูกสันหลัง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ข้อห้ามและข้อควรระวัง ก่อนตรวจ MRI 

เนื่องจากเครื่องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อการทำงาน และการขยับของอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะ ทั้งที่อยู่ในร่างกาย หรือที่ติดมากับผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยรับการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบางรุ่น (Cardiac pacemaker)
  • ผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ชนิดโลหะ
  • ผู้ป่วยผ่าตัดใส่คลิปหนีบหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)
  • ผู้ป่วยผ่าตัดใส่เครื่องช่วยฟังที่ฝังในกระดูกหู
  • ผู้ป่วยมีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียมต่างๆ โลหะดามกระดูก กระสุนปืน
  • มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
  • ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
  • กลัวที่แคบ (Claustrophobia) หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้

การปฏิบัติตัว หลังรับการตรวจ MRI

  • สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น กรณีที่ได้รับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น ควรมาพบแพทย์
  • มาตรวจและฟังผลการตรวจตามวันเวลาที่นัดหมาย
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์