Shopping Cart

No products in the cart.

Note การผ่าตัดทางนรีเวช แบบไร้รอยแผลภายนอก

การผ่าตัดทางนรีเวช แบบไร้รอยแผลภายนอก

“…แบบนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดค่ะ…” ไม่ว่าใครได้ยินแบบนี้ก็ต้องตกใจ

ผ่าตัด!!! …ผ่าตัดต้องเจ็บมากแน่ ๆ …จะลุกไหวไหม …ต้องนอนอยู่เฉย ๆ กี่วัน …ผ่าตัดก็หยุดงานนานสิ เศรษฐกิจแบบนี้เจ้านายต้องไล่ฉันออกแน่ …แล้วทริปเที่ยวที่จองไว้จะทำยังไง …ให้พักฟื้นนาน ๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย ฉันอึดอัดนะ!!! แต่ในปัจจุบันนี้ การผ่าตัดทางนรีเวชไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

จากภาพเดิมของการผ่าตัดทางนรีเวชที่มักคิดกันว่า การผ่าตัดจะต้องมีการเปิดหน้าท้อง มีแผลยาว หลังผ่าตัดมีความเจ็บปวดมาก พักฟื้นนาน ภาพเดิม ๆ เช่นนั้นจะไม่ใช่อีกต่อไป เพราะในปัจจุบันการผ่าตัดทางนรีเวชได้รับการพัฒนาจนมี การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องนี้ จะมีแผลทางหน้าท้องที่มีขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร จำนวนประมาณ 3 – 4 แผล เพื่อเป็นช่องทางใส่เครื่องมือผ่าตัดในช่องท้อง โดยหลังได้รับการผ่าตัดผ่านกล้อง ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะน้อยกว่า และระยะเวลาพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง นอกจากนี้อัตราการติดเชื้อและการเกิดพังผืดในช่องท้องหลังผ่าตัดผ่านกล้องจะมีน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องมาก

ปัจจุบัน การผ่าตัดยังพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนถึงปัจจุบัน มีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้รอยแผลภายนอก (Natural Orifice Transluminal Endoscopic Surgery หรือ NOTES)

การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้รอยแผลภายนอก มาจากภาษาอังกฤษ คือ Natural Orifice Transluminal Endoscopic Surgery หรือ NOTES เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องและเครื่องมือเพื่อเข้าไปทำการผ่าตัดโดยใช้ช่องทางเข้าทางธรรมชาติของผู้ป่วย สำหรับการผ่าตัดทางนรีเวชนั้น ช่องทางธรรมชาติในการผ่าตัดคือช่องคลอด โดยความเจ็บปวดและการฟื้นตัวหลังผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะน้อยกว่าการผ่าตัดผ่านกล้องโดยปกติ และไม่ทำให้เกิดรอยแผลใด ๆ บนร่างกายที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก

สำหรับโรคและภาวะที่เหมาะสมกับการผ่าตัดผ่านกล้องไร้รอยแผลภายนอก เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ เนื้องอกรังไข่บางชนิด ภาวะก่อนเป็นมะเร็งของปากมดลูก ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้รอยแผลภายนอก จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือและแพทย์ที่มีความชำนาญ นอกจากนี้ ด้วยสภาวะของโรคและสภาวะของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้รอยแผลภายนอกอาจจะไม่สามารถใช้กับโรคทางนรีเวชได้ทุกโรค จึงควรมีการปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้ชำนาญการถึงวิธีการรักษา ข้อดี ข้อเสีย ของการผ่าตัดแต่ละวิธีเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. มาริสา ทศมาศวรกุล
พญ. มาริสา ทศมาศวรกุล
สูติแพทย์ประจำ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์