Shopping Cart

No products in the cart.

เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) แก้ปัญหาฟันสึก นอนกัดฟัน

เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint) เป็นเครื่องมือทางทันตกรรมที่ทำด้วยเรซินใส ทำขึ้นให้ใส่คลุมได้พอดีกับฟันของผู้ป่วยแต่ละรายโดยเฉพาะ เพื่อลดความตึงและลดแรงกระแทกในข้อต่อขากรรไกร ทำให้อวัยวะเหล่านี้ได้พักในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงช่วยให้หายจากบาดเจ็บได้เร็วขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อขากรรไกรและฟันมีความสมดุล ซึ่งสามารถช่วยป้องกันฟันสึกจากการนอนกัดฟันได้อีกด้วย

 

คำแนะนำการใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal Splint)

ทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ใช้ ส่วนมากมักจะให้ใส่ตอนนอนทุกคืน ให้ได้ประมาณคืนละ 8-10 ชั่วโมง ถ้านอนดึกอาจใส่ก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง ในกรณีที่ต้องใส่ตลอดเวลา ให้ยกเว้นการใส่ขณะรับประทานอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับโรคและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ให้ใส่เฝือกสบฟันตามคำแนะนำ จนกว่าทันตแพทย์ผู้รักษาจะแนะนำให้ลดการใส่ จนอาจเลิกใส่ได้ในที่สุด

หมั่นดูแลความสะอาด และเก็บเฝือกสบฟันอย่างดี

เมื่อถอดเฝือกสบฟัน นอกจากจะแปรงฟันให้สะอาดแล้ว ยังต้องทำความสะอาดเฝือกสบฟันด้วยแปรงสีฟันให้ทั่วทั้งด้านในและด้านนอก ล้างให้สะอาด เมื่อใดที่ไม่ใส่เฝือกสบฟัน ให้เก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด โดยแช่น้ำสะอาด หรือแช่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดฟันปลอม ไม่ควรวางทิ้งไว้เฉยๆ หรือห่อด้วยกระดาษทิชชู เพราะมีโอกาสสูญหายได้ง่าย ระวังอย่านั่งหรือนอนทับ ไม่ควรใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือทำหล่น เพราะเฝือกสบฟันอาจแตกหักเสียหายได้

เมื่อใส่เฝือกสบฟันครั้งแรก อาจรู้สึกตึงที่ซี่ฟันโดยเฉพาะที่ฟันหน้า อาจรู้สึกรำคาญ เกะกะ นอนไม่หลับ เมื่อถอดเฝือกสบฟันในตอนเช้า อาจรู้สึกแปลกๆ เหมือนฟันเคลื่อนไป อาจมีน้ำลายไหลมากขึ้น ต้องใส่เฝือกสบฟันให้มากและฝึกอ่านออกเสียงบ่อยๆ เพื่อให้ลิ้นชินกับการมีเฝือกสบฟันอยู่ในปาก แต่ถ้าหากมีความผิดปกติอย่างอื่น เช่น เป็นแผลในช่องปาก เจ็บเหงือก เจ็บเพดานปาก หรือเจ็บฟันมากๆ ให้ถอดเฝือกสบฟันออก แช่น้ำไว้ และนัดพบทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาโดยเร็ว พร้อมกับนำเฝือกสบฟันมาด้วย

ข้อควรปฏิบัติเมื่อใส่เฝือกสบฟัน

  1. ในกรณีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกร ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ขากรรไกรที่มากเกินไป และต้องใช้ขากรรไกรด้วยความระมัดระวัง เช่น ไม่เคี้ยวอาหารแข็ง เหนียว หรืออ้าปากกว้างเกินไป หากรับประทานคำโตเกินไปควรเคี้ยวทั้งซ้ายและขวาให้เท่าๆ กัน
  2. ไม่ให้ปรับแต่งเฝือกสบฟันด้วยตนเอง หากมีปัญหาใดๆ ควรรีบติดต่อแพทย์ผู้ให้การรักษา
  3. ไม่ต้องใส่เฝือกสบฟันขณะรับประทานอาหาร และไม่ให้กัดเฝือกสบฟันเล่น และเวลาใส่ให้ใช้นิ้วมือกดให้เข้าที่ อย่าใช้ฟันกัดให้เข้าที่
  4. การติดตามผลการรักษามีความสำคัญมาก ผู้ป่วยต้องมาตามนัดเพื่อมารับการตรวจเป็นระยะ เพื่อปรับแต่งเฝือกสบฟันให้ได้น้ำหนักของจุดสบที่สม่ำเสมอ

เมื่อมาพบแพทย์ให้นำเผือกสบฟันมาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากการใช้เฝือกสบฟันเป็นวิธีหนึ่ง ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ และ/หรือข้อต่อขากรรไกร หรือขากรรไกรทำงานไม่เป็นปกติ ดังนั้นผู้ป่วยต้องคำนึงเสมอว่าอาการที่มีอยู่อาจไม่หายไปโดยสิ้นเชิง และอาจไม่ทำให้อาการดีขึ้นโดยทันที ต้องใช้เวลาและต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างทันตแพทย์กับตัวผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องฝึกปฏิบัติตนตามที่ทันตแพทย์แนะนำ และอาจต้องอาศัยการรักษาอื่นร่วมด้วย

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
ทพญ. ปรารถนา เฉิดสุวรรณรักษ์
ทพญ. ปรารถนา เฉิดสุวรรณรักษ์
ทันตแพทย์โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์