Shopping Cart

No products in the cart.

ถ้าได้รับผลกระทบจากการฉายรังสีต้องทำยังไง?

ผลกระทบของการฉายรังสีจะเกิดเฉพาะบริเวณที่ฉายรังสีเท่านั้นและไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์รังสีรักษาจะแบ่งผลข้างเคียงตามเวลาที่เกิด ผลข้างเคียงที่เกิดขณะฉายรังสีจนถึงหลังฉายรังสีครบ 3 เดือน เรียกว่า ผลข้างเคียงแบบเฉียบพลัน

 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดผลข้างเคียงเฉียบพลัน

  1. ปริมาณรังสี คือ ยิ่งฉายปริมาณรังสีมากเช่น เกิน 5 สัปดาห์ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น
  2. เทคนิคการฉายรังสี คือ เทคนิคการฉายรังสีที่ต่างกันก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ต่างกันได้ ซึ่งการเลือกเทคนิคการฉายจะขึ้นกับตำแหน่ง ระยะ และขนาดของโรคตามการพิจารณาของแพทย์
  3. ตำแหน่งหรือบริเวณที่ฉายรังสี เช่น หากฉายบริเวณศีรษะ อาจทำให้ผมร่วง ฉายรังสีบริเวณทรวงอก อาจมีอาการ ไอ เจ็บคอเวลากลืนอาหาร หากฉายบริเวณช่องท้องอาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น

ผลกระทบจากฉายรังสี ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

เกิดจากผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลงหรือจากการเดินทางมาฉายรังสีทุกๆวัน ทำให้รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย และง่วงซึม โดยอาจเกิดขึ้นทันที หรือหลังฉายรังสีไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งวิธีการปฎิบัติตัวคือ พักผ่อนให้เพียงพอ ปรับการทำงาน หรือการออกแรงให้เหมาะสม

อาการไอ เจ็บคอ เยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ

เกิดจากการฉายแสงถูกบริเวณใกล้เคียงกับช่องปาก ทำให้เซลล์บริเวณนั้นเกิดการอักเสบอาการ เกิดอาการเจ็บคอ และตึงในปาก เยื่อบุภายในช่องปากบวมแดง หรืออาจพบแผ่นฝ้าขาวในปาก โดยมีวิธีการปฎิบัติตัวดังนี้
1. ดื่มน้ำให้มาก เพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น และลดความเหนียวของเสมหะในลำคอ
2. หลีกเลี่ยงอาหารร้อน เปรี้ยว เผ็ด เพราะจะทำให้ระคายเคืองและแสบในปากและลำคอ
3. รักษาความสะอาดในช่องปาก โดยให้บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ หลังจากรับประทานอาหารทุกมื้อ
4. หากเจ็บปากเจ็บคอมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ

อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร

เป็นผลมาจากการฉายรังสีโดนบริเวณทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และไม่รู้สึกอยากรับประทานอาหาร สำหรับวิธีการปฎิบัติตัว ได้แก่ หลีกเลี่ยงอาหารมีกลิ่น อาหารมัน หรือทอด รวมถึงปรับเรื่องมื้ออาหาร โดยให้รับประทานของว่างมื้อเล็กบ่อยๆ แทนอาหารมื้อใหญ่ และรับประทานอาหารช้าๆ เพื่อช่วยให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น และแจ้งแพทย์เพื่อสั่งยาลดอาการคลื่นไส้

อาการท้องผูก หรือท้องเสีย

เกิดจากการฉายรังสีในบริเวณลำไส้และทวารหนัก ทำให้มีอาการเช่น ถ่ายบ่อย อุจจาระเหลวมากกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการท้องผูก วิธีการปฎิบัติตัวกรณีท้องผูก ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หากมีท้องผูกเกินสองถึงสามวัน ควรแจ้งแพทย์ที่ทำการักษา สำหรับกรณีท้องเสียมีวิธีการปฎิบัติตัว คือ รับประทานอาหารที่สุกสะอาดหลีกเลี่ยงอาหารมัน เผ็ด นม และแจ้งแพทย์เพื่อประเมินอาการ

อาการผมร่วง

เส้นผมหลุดร่วงจะเกิดเฉพาะกรณีฉายรังสีบริเวณศีรษะ และเมื่อหยุดการฉายรังสีผมในบริเวณนั้นจะค่อยๆกลับมาปกติ โดยวิธีการปฎิบัติตัว ได้แก่
1. หวีหรือแปรงผมเบาๆ โดยใช้หวีขนาดใหญ่หรือแปรงที่มีขนนุ่ม
2. หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนที่ผม และผลิตภัณฑ์ที่มีสารรุนแรง
3. รักษาความสะอาดของผมและหนังศีรษะโดยใช้แชมพูสำหรับเด็ก

ผิวหนังแดง/แห้ง/คันและปัญหาผิวหนังอื่นๆ

ผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีอาจมีสีคล้ำลง แห้ง ลอกและคัน ได้ โดยมีวิธีการดูแล ดังนี้
1. ควรสวมเสื้อผ้าหลวมๆ
2. หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดที่บริเวณฉายรังสี
3. ห้ามถู แกะ เกาบริเวณที่ฉาย
4. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางค์ โลชั่น ทาบริเวณที่ฉาย แต่สามารถใช้ได้เมื่ออยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

อาการผิดปกติที่ควรรีบมาพบแพทย์ทันที

1. มีไข้ หนาวสั่น
2. หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ
3. มีเลือดออกมาก
4. ท้องเสียรุนแรง
5. คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์