ไซนัสอักเสบ (sinusitis) เป็นการติดเชื้อในไซนัส เนื่องจากการอุดตันของรูระบายไซนัส ซึ่งมักเกิดตามหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทำให้มีการคั่งค้างของสารคัดหลั่งในไซนัส ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก ปวดใบหน้า หรือศีรษะ และได้กลิ่นลดลง
ใครบ้างมีความเสี่ยงเป็นโรคไซนัส
- ผู้ที่มีกายภาพในจมูกเป็นอุปสรรคต่อการระบายสารคัดหลั่งจากไซนัส
- โรคภูมิแพ้
- ริดสีดวงจมูก
- เนื้องอกในจมูก
- โรคทางกรรมพันธ์ที่ทำให้มีความผิดปกติของเซลบนเยื่อบุผิว หรือมีการเหนียวข้นของสารคัดหลั่งมากกว่าปกติ
- ภูมิคุ้มกันต่ำ
- สูบบหรี่
- อยู่ในที่อากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี
4 อาการเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรค ไซนัสอักเสบ
- คัดจมูก
- น้ำมูกไหล
- ปวดใบหน้า
- ได้กลิ่นลดลง
โดยในเด็กอาจจะมีอาการไอ แทนอาการรับกลิ่นลดลงได้ โดยใน 4 อาการจะต้องมีอาการคัดจมูก หรือน้ำมูกไหลร่วมด้วยเสมอ นอกจากนั้นยังมีอาการปวดมึน หนักๆ ตรงบริเวณ ระหว่างคิ้ว หน้าผาก โหนกแก้ม หรือรอบๆ กระบอกตา บางรายอาจมีอาการปวดร้าวมาที่ฟัน อาจเป็นมากขึ้นตอนเช้าหรือเวลาก้มศีรษะ สำหรับไซนัสอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย มักมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาการปวดมาก น้ำมูกเปลี่ยนสี อาการเดิมดีขึ้นแล้วแย่ลง เจาะเลือดมีค่าการอักเสบที่สูงขึ้น
ไซนัสกับหวัด อาการต่างกันอย่างไร?
หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่คอและจมูกทำให้มีน้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ ต่อมาอาจมีเสียงแหบและตามด้วยอาการไอ อาการหวัดจะรุนแรงมากใน 3 วันแรก หลังจากนั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนไซนัสเป็นการติดเชื้อในไซนัส เนื่องจากการอุดตันของรูระบายไซนัส ซึ่งมักเกิดตามหลังการเป็นหวัด ทำให้มีการคั่งค้างของสารคัดหลั่งในไซนัสทำให้มีอาการปวดหน้า หรือศีรษะ การได้กลิ่นลดลง
การตรวจและวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น แพทย์จะใช้การซักประวัติร่วมกับตรวจร่างกายเป็นหลัก ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้การสองกล้องในจมูก หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประกอบในการวินัจฉัย
วิธีรักษา ไซนัสอักเสบ ทำอย่างไรได้บ้าง?
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสมีอาการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส แพทย์แผนกหู คอ จมูก จะให้การรักษาตามอาการ ได้แก่ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ให้ยาลดคัดจมูก แก้ปวด หากสงสัยเป็นไชนัสอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียจึงพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย แต่ก็มีถึง 70% ที่หายได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ
ไซนัสอักเสบ ระดับไหน ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- อาการอักเสบเฉียบพลันที่มีภาวะแทรกช้อน เป็นหนองในตา หรือติดเชื้อในกระดูกที่กระโหลกหน้าผาก หรือติดเชื้อเข้าสมอง
- อาการอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อราแบบรุนแรง ที่มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีภูมิต้านทานต่ำ
- อาการอักเสบเรื้อรัง ที่ควบคุมอาการได้ไม่ดีด้วยการใช้ยา มีภาวะเนื้องอก ริดสีดวงจมูก ภูมิแพ้เชื้อรา
วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น เมื่อป่วยเป็นโรค ไชนัสอักเสบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดว่ายน้ำ
- เลี่ยงการอยู่ในที่มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงฉับพลัน
- งดสูบบุหรี่
- เลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่บริสุทธิ์ เช่น มีฝุ่น ควัน สารเคมี