มะเร็งผิวหนัง แม้จะเป็นมะเร็งที่พบได้ไม่มากในประเทศไทยเช่นมะเร็งอื่น ๆ แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากสถิติข้อมูลมะเร็งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2561 โดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยถึง 4,374 คนต่อปี หรือวันละ 12 คน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังหรือไม่ มีวิธีสังเกตลักษณะของผิวหรืออาการตัวเองอย่างไรบ้าง มาร่วมหาคำตอบกันในบาทความนี้ค่ะ
มะเร็งผิวหนัง ในเอเชีย
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน โรคมะเร็งบนผิวหนังเป็นสิ่งที่พบได้น้อยในคนทั่วไป พบได้มากในชาวคอเคเซียน (Caucasian) หรือว่าชาวยุโรป ในขณะที่ชาวเอเชียพบได้แค่ 1 – 2 % เท่านั้น
ไม่มีไฝ ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็ง
โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ มะเร็งไฝ (Melanoma Skin Cancer) และมะเร็งชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งไฝ (Non-Melanoma Skin Cancer) โดยที่เราจะสามารถแบ่งออกเป็นย่อย ๆ ลงไปอีก คือขึ้นอยู๋กับเซลล์ลักษณะต้นกําเนิด อย่างเช่น Squamous Cell Carcinoma หรือว่า Basal Cell Carcinoma
มะเร็งผิวหนัง เกิดจากอะไร
สาเหตุหลักที่สําคัญมาจากปัจจัยภายนอก คือการโดนแสงแดด หรือการโดนแสงรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีเป็นระยะเวลานาน ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสประเภท HPV (Human Papillomavirus) การมีแผลเป็นเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ๆ การมีอายุเพิ่มมากขึ้นสามารถเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง รวมไปถึงการมีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งบนผิวหนังอยู่แล้วก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ
ตุ่มไฝแบบไหนคือสัญญาณร้าย?
สําหรับตุ่มไฝประเภทที่เราสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง มีหลักง่าย ๆ ในการสังเกตลักษณะโดยใช้หลัก ABCD
A: Asymmetry ลักษณะผื่นที่ดูไม่ค่อยสวยงาม มีขอบเขตที่ด้านซ้ายกับด้านขวาไม่เท่ากัน
B: Border ขอบเขตของลักษณะตุ่มไฝ เป็นลักษณะที่ ไม่ค่อยขอบเรียบ แล้วก็ไม่สวยงาม มีขอบหยึกหยัก
C: Color มีลักษณะสีที่ดูสีไม่สม่ำเสมอกัน ดำเข้ม รวมถึงรอบๆ อาจจะมีลักษณะที่ขาวเกิน อาจจะต้องสงสัยว่าเป็นตุ่มไฝที่เป็นมะเร็งไฝ หรือเป็นแผลตรงบริเวณนั้นบ่อยๆ
D: Diameter ขนาดเป็นสิ่งสําคัญ ถ้าเกิดตุ่มไฝบริเวณนั้นเนี่ยมีขนาดใหญ่ ที่มีการโตขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นๆ หรือว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าประมาณ 6 มิลลิเมตรขึ้นไป ต้องสงสัยว่าเป็นมะเร็งไฝ
ทำไมอายุมากขึ้น ตุ่มไฝเพิ่มขึ้น ?
การที่อายุมากขึ้นเซลล์ผิวหนังจะเป็นลักษณะที่มีการแบ่งตัวตลอดเวลา ในขณะเดียวกันเซลล์ไฝก็คือเป็นเซลล์ผิวหนังชนิดหนึ่ง การที่แบ่งตัวเป็นเรื่องปกติแล้วก็มีขนาดที่จะใหญ่ขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งสําคัญคือการสังเกตตุ่มไฝตรงนั้นว่ามีความผิดปกติของ ABCD ที่กล่าวมาหรือเปล่า ถ้าเกิดว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น มีลักษณะที่เกิดบาดแผล รวมถึงมีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งผิวหนังควรสงสัยว่าลักษณะของตุ่มไฝที่เห็นอาจเป็นสัญญาณร้ายของโรค
วิธีการตรวจวินิจฉัย
เบื้องต้น หากสงสัยว่าตุ่มไฝตรงบริเวณนั้นมีลักษณะที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งไฝ อย่างแรกเลยก็คือแนะนำให้เข้ามารับการปรึกษากับแพทย์ผิวหนัง เพื่อตรวจโดยใช้อุปกรณ์ Dermoscopy ส่องดูสภาพผิวหนังเบื้องต้นเพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์โรคผิวว่ามีลักษณะที่ผิดปกติหรือไม่ หากแพทย์พบความผิดปกติร่วมกับการซักประวัติผู้เข้ารับการตรวจ จะพิจารณาทําการตัดชิ้นเนื้อ หรือว่า Skin Biopsy เพื่อส่งยืนยันตุ่มไฝทางพยาธิว่าเป็นลักษณะเซลล์ชนิดไหน ถ้าเกิดผลที่ออกมาทางพยาธิวิทยาพบว่าบริเวณนั้นเป็นมะเร็งผิวหนังหรือมะเร็งไฝ จะพิจารณาการรักษาโดยขึ้นอยู่กับบริเวณบนผิวหนังที่ผู้ป่วยเป็น เลือกการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ เช่น แผนกรังสีรักษา หน่วยเคมีบําบัด หรือแพทย์ศัลยกรรม เพื่อดูแลผิวหนังบริเวณนั้นหาชั้นตอนการรักษาที่ดีที่สุดค่ะ
การตรวจสุขภาพผิวทุกปี ลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ไหม?
โดยปกติผิวหนังก็เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่สําคัญ เราควรจะต้องมีการสังเกตตัวเองอย่างน้อยทุกเดือน เพื่อดูว่าเรามีลักษณะตุ่มอะไรที่สงสัยหรือมีความกังวลว่าเป็นตุ่มที่ผิดปกติไหม และควรตรวจสุขภาพผิวหนังโดยแพทย์อย่างน้อยทุก 3 – 6 เดือนว่ามีลักษณะเซลล์ที่เป็นตุ่มที่ต้องสงสัยว่าหรือไม่
ป้องกันไม่ให้เกิดตุ่ม – ไฝมะเร็ง ได้ไหม?
สาเหตุที่ทําให้เกิดโรคมะเร็งบนผิวหนังเป็นหลักคือการโดนแสงยูวีเป็นระยะเวลานาน ๆ สิ่งสําคัญที่ช่วยป้องกันอย่างแรกเลยก็คือ ครีมกันแดด ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการกันรังสียูวี มีค่า SPF>50 เพื่อจะได้มีประสิทธิภาพในการกันรังสี UVB ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงค่า PA บ่งบอกถึงการป้องกันรังสี UVA ควรจะมีค่าอย่างน้อย ++++ ขึ้น เพราะว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน และบริเวณที่ทา ปริมาณในการทาที่เหมาะสม เช่น บริเวณใบหน้า ทางแพทย์ผิวหนังจะแนะนําทุกคนนะคะ ให้ทาครีมกันแดดอย่างน้อยปริมาณสองข้อนิ้ว แล้วก็อย่าป้องกันแค่ใบหน้าอย่างเดียว อย่าลืมทาตรงบริเวณคอ แขน ขา เมื่อเราต้องไปออกโดนแดดเป็นระยะเวลานานๆ หรือว่าอยู่กลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรจะต้องมีการทากันแดดซ้ำทุก 2 – 3 ชั่วโมง
นอกจากนี้ในอาชีพที่ต้องมีการทํางานกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรจะต้องมีการตรวจ Screening ว่าตัวเองมีลักษณะผื่นผิวหนังหรือว่าตุ่มชนิดไหนที่มีการโตเร็วหรือว่ามีลักษณะความผิดปกติตามคําแนะนําหรือไม่ แล้วก็เข้ามารับการรักษาหรือมารับคําปรึกษา
ในส่วนของผู้สูงอายุบางท่านที่มีประวัติเคยสัมผัสกับสารเคมีบางประเภทเช่น สารหนู หรือ (Arsenic) อาจจะต้องมีการเฝ้าระมัดระวัง เนื่องจากสารหนูเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่สามารถทําให้เกิดมะเร็งบางประเภทได้ นอกจากนี้สําหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความจําเป็นต้องรับประทานยากดภูมิบางประเภทเนื่องจากยากดภูมิเป็นหนึ่งปัจจัยได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นแนะนําว่าควรจะต้องมีการตรวจร่างกายตัวเองหรือว่าเข้ามารับการปรึกษากับแพทย์ผิวหนัง หากตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้นจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งนั้นง่ายขึ้น