Shopping Cart

No products in the cart.

รักษามะเร็งปอด ด้วยการฉายรังสี

การรักษามะเร็งปอด (Treatment for lung cancer) จะต้องใช้ทีมสหสาขาในการรักษา ซึ่งประกอบด้วย การผ่าตัด, การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ในการรักษามะเร็งปอดปัจจุบัน ยังมีการตรวจชิ้นเนื้อพิเศษเพิ่มเติมซึ่งมีผลต่อการเลือกยารักษาแบบมุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและทางเลือกในการรักษา

การใช้รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งปอด

1.มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (NSCLC)

กรณีที่สามารถผ่าตัดได้ การฉายรังสีจะมีบทบาทหากผลชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดยังพบเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่หรือพบการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง โดยฉายรังสีเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำของโรค
กรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักเป็นการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดและยาภูมิคุ้มกันบำบัด หากมะเร็งอยู่ในระยะเริ่มต้น (ก้อนมีขนาดเล็กและไม่พบการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองในช่องอก) อาจพิจารณาการฉายรังสีร่วมพิกัด/รังสีศัลยกรรม Stereotactic body radiotherapy (SBRT) ซึ่งเป็นการฉายที่ใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งสูง โดยจะใช้ระยะเวลาในการฉายรังสีไม่เกิน 2 สัปดาห์

2.มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC)

กรณีที่รอยโรคอยู่เฉพาะบริเวณช่องอก สามารถรักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อเป้าหมายการรักษาให้หายขาดของโรค
กรณีที่มีรอยโรคอยู่นอกบริเวณช่องอก อาจพิจารณาการฉายรังสีรอยโรคในช่องอก ในรายที่มีการตอบสนองที่ดีต่อการให้ยาเคมีบำบัดและยาภูมิคุ้มกันบำบัด
โดยเทคนิคการฉายรังสีที่ใช้ ได้แก่ การฉายรังสีปรับความเข้มหมุนรอบตัว ( VMAT) ร่วมกับการจำลองการรักษาแบบ 4 มิติ (4D CT simulation) ทำให้การฉายรังสีแม่นยำมากขึ้นและครอบคลุมรอยโรคที่ขยับตามการหายใจ โดยใช้เวลาในการฉายรังสีครั้งล่ะ 5-10 นาที
นอกจากนี้ในมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย การฉายรังสียังมีบทบาทช่วยบรรเทาอาการ เช่น ลดอาการปวดในมะเร็งที่กระจายไปกระดูก, ลดอาการอ่อนแรงในมะเร็งที่ที่กระจายไปที่สมอง

เตรียมตัวก่อนฉายรังสี รักษามะเร็งปอด

ผลข้างเคียงที่พบได้ระหว่างการฉายรังสี

  •  เหนื่อยง่าย, ไอแห้งๆ
  • กลืนเจ็บ/กลืนลำบาก
  • ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีแห้ง/แดง/คล้ำขึ้น

สังเกตสัญญาณเตือนของระบบทางเดินหายใจ

สิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้คือสังเกตความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งบางคนอาจมีมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกที่ไม่แสดงอาการ แต่มักมีสัญญาณคือ อาการไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปน เสียงแหบ น้ำหนักลดลงผิดปกติ และบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น
ทั้งนี้หากอยู่ในระยะลุกลามอาการแสดงจะชัดเจนมากขึ้น เช่น หอบเหนื่อย หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งโต กดเบียดหลอดลมหรือเนื้อปอด รู้สึกเจ็บบริเวณหน้าอก ติดเชื้อในปอดบ่อยๆ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่หน้า แขน คอ หากก้อนมะเร็งกดทับหลอดเลือดดำในช่องอก เป็นต้น

ระยะของมะเร็งปอด

การแบ่งระยะของโรคมะเร็งปอดทั้ง 2 ชนิด จะกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC) แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
1.ระยะจำกัดของขนาดมะเร็ง (limited stage) เป็นระยะที่มะเร็งอยู่บริเวณปอดและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
2.ระยะการแพร่กระจาย (extensive stage) เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ระยะของมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (NSCLC) แบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งขนาดเล็กไม่เกิน 4 ซม อยู่เฉพาะที่บริเวณปอดและยังไม่พบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและพบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณช่องอกหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณไหปลาร้า หรือมีการแพร่กระจายภายในปอดข้างเดียวกัน
ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น

มะเร็งและรังสีรักษาที่ไทยนครินทร์

ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคเฉพาะบุคคล เนื่องจากมีความผิดปกติในระดับพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งมีความแตกต่างในการรักษา การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดจึงต้องผสมผสานด้วยหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี โรงพยาบาลไทยนครินทร์มีกระบวนการรักษาและเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย รักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาเพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบหรือผลข้างเคียงให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

รังสีรักษามี 2 รูปแบบ

การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy)
เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย โดยเริ่มจากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการรักษา (CT Simulator) เพื่อระบุตำแหน่ง ขอบเขต ขนาดของรอยโรคและอวัยวะข้างเคียง โดยแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์จะนำภาพที่ได้ไปจำลองแผนการรักษา ขั้นตอนต่อมาจะนำแผนการรักษาที่วางไว้มาฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Linear Accelerator) โดยมีเทคนิคการฉายรังสี เช่น การฉายรังสีแบบสามมิติ (3DCRT), การฉายรังสีแปรความเข้มแบบหมุนรอบตัว (VMAT), การฉายรังสีร่วมพิกัด (SBRT) โดยแพทย์จะเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวโรคและผู้ป่วยทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และใช้เวลาไม่นาน

การฉายรังสีระยะใกล้หรือการใส่แร่ (Brachytherapy)
เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆกับก้อนมะเร็ง การเลือกวิธีฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค เป็นต้น เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสม และการใส่แร่อาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

ขั้นตอนการฉายรังสี

แพทย์ประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนเริ่มทำการรักษาและพูดคุยถึงแนวทางการรักษา จากนั้นนัดผู้ป่วยจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะถูกจัดตำแหน่งให้อยู่นิ่งด้วยอุปกรณ์ยึดตรึง โดยนักรังสีรักษาจะทำการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีทุกครั้ง การฉายรังสีจะใช้เวลาวันละประมาณ 15-20 นาที โดยจะฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ตามแต่ละชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์

เทคโนโลยีทางการแพทย์

เครื่องจำลองการรักษา (Philip; Big bore Radiation Therapy)
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography simulator) ที่ใช้จำลองภาพ 3 มิติและ 4 มิติตามการหายใจ เพื่อระบุตำแหน่ง รูปร่างและขนาดของก้อนมะเร็ง ตลอดจนอวัยวะใกล้เคียง โดยเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อวางแผนการรักษา (Treatment Planning System) ทำให้แพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์สามารถวางแผนขนาดและทิศทางของลำรังสีได้ชัดเจน

เครื่องจำลองการรักษา

เครื่องเร่งอนุภาค (Varian; Vital Beam)
เครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงสามารถปรับรูปร่างและความเข้มของลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อนมะเร็ง โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาทีต่อครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล

เทคนิคการฉายรังสี

Three Dimensional Conformal Radiotherapy (3D-CRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติ คือ การรักษาที่ใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นก้อนเนื้องอกและอวัยวะปกติในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทำให้ปริมาณรังสีกระจายอย่างสม่ำเสมอ มีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถรูปร่างลำรังสีให้เหมาะสมเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง และลดปริมาณรังสีที่จะกระทบเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบๆ เซลล์มะเร็ง

Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้ม คือ พัฒนาการอีกระดับของการฉายรังสี 3 มิติ (3D-CRT) สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีการที่ใช้การปรับปริมาณรังสีที่มีความเข้มต่างกันโดยประกอบด้วยลำรังสีขนาดต่าง ๆจำนวนมาก ทำให้ครอบคลุมเฉพาะบริเวณรอยโรคและเหมาะสมกับก้อนมะเร็งได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้น ๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัว ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT มีการปรับความเข้มของลำรังสี สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี (MLC) จึงช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการขยับตัวของผู้เข้ารับบริการอีกด้วย รวมทั้งทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้นๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Stereotactic radiation therapy
รังสีร่วมพิกัด คือการรักษาโดยการให้รังสีปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด มีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป คือจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า โดยสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอกได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป เทคนิคการฉายรังสีร่วมพิกัดนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.Stereotactic radiosurgery (SRS) เป็นการฉายรังสีร่วมพิกัดปริมาณรังสีสูงเพียงครั้งเดียว การรักษาชนิดนี้ นอกจากจะใช้รักษามะเร็งสมองแล้วยังมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคกลุ่มเนื้องอกธรรมดา (Benign tumor) เช่น โรคหลอดเลือดในสมองผิดปกติแต่กำเนิด (AVM) บางครั้งอาจใช้การฉายรังสีมากกว่า 1 ครั้ง เรียก SRT (Stereotactic radiotherapy) แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่จำเพาะ ซึ่งทำให้สามารถจัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ

2.Stereotactic Body Radiation Therapy (SBRT) การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้รังสีจำนวน 3-7 ครั้ง

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
นพ.นิรวิทธ์ รัชพงษ์ไทย
รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์