Shopping Cart

No products in the cart.

อยากตรวจฮอร์โมนทั้งที…ก็ให้คอมพลีทกันไปเลย

ฮอร์โมน (Hormone) เป็นสารเคมีสำคัญในร่างกายที่สร้างจากต่อมไร้ท่อต่างๆ ช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณฮอร์โมนต่างๆ จะลดน้อยลง ส่งผลให้การทำงานของร่างกายไม่เหมือนเดิม มีอาการต่างๆ เกิดขึ้น รวมถึงเจ็บป่วย การตรวจวิเคราะห์ฮอร์โมน จะสามารถนำมาวิเคราะห์การดูแลระดับฮอร์โมนให้สมดุล ส่งผลให้โอกาสในการทำงานผิดปกติของร่างกายลดน้อยลง

 

อาการอะไรบ้าง บ่งบอกภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล?

  • ร้อนวูบวาบ
  • เหงื่อออกกลางคืนเวลานอน
  • หงุดหงิดง่าย
  • ผิวแห้ง
  • ความรู้สึกทางเพศหรือสมรรถภาพทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • อาการช่วงก่อนมีประจำเดือนมาก (PMS) เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไมเกรนกำเริบ
  • นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นมาไม่สดชื่น
  • รู้สึกว่าความจำไม่แจ่มชัดเท่าเดิม
  • รับความเครียด ความกดดันในชีวิตประจำวันได้ลดลง
  • เหนื่อยล้าง่าย ต้องการกาแฟ ชา เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพื่อที่จะทำงานต่อไปได้
  • ลดน้ำหนักยาก รู้สึกว่าการเผาผลาญแย่ลง
  • น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ตั้งใจ
  • ออกกำลังกายแล้วไม่ได้เป้าหมาย การฟื้นตัวหลังออกกำลังช้าลง

ตรวจฮอร์โมน

ทำไมเป็นผู้ชายต้องตรวจฮอร์โมนเพศหญิง
และผู้หญิงต้องตรวจฮอร์โมนเพศชายด้วย?

  • เอสโตรเจน (Estrogen) มีความสำคัญต่ออารมณ์ทางเพศ สมรรถภาพทางเพศ และการผลิตสเปิร์ม อีกทั้งยังส่งผลต่อการแข็งแรงของกระดูกในผู้ชาย หากผู้ชายมีเอสโตรเจนสูงเกินไปก็จะทำให้กล้ามเนื้อหาย สะสมไขมันได้ง่ายขึ้น มีบุตรยาก สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ก็ส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงเช่นเดียวกัน ถ้าผู้หญิงมีเทสโทสเตอโรนมากเกินไป ก็อาจมีปัญหาประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ผิวมัน สิวขึ้น ขนดก ตรวจพบถุงน้ำที่รังไข่

อยากตรวจฮอร์โมนให้คอมพลีท ควรตรวจอะไรบ้าง?

  • ฮอร์โมนไทรอยด์ (FT3, FT4, TSH) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญ ควบคุมอุณหภูมิ สร้างพลังงานของร่างกาย และยังส่งผลเรื่องอารมณ์
  • ฮอร์โมนเพศชาย และฮอร์โมนเพศหญิง (Testosterone, Estrogen, Progesterone) โดยตรวจทั้งฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาและควบคุมลักษณะทางเพศ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนเพศจะลดลง และเข้าสู่วัยทองในที่สุด
  • ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (FSH, LH) ซึ่งทำหน้าที่สั่งการให้รังไข่ หรืออัณฑะสร้างฮอร์โมนเพศ
  • ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมามากกรณีตั้งครรภ์และให้นมบุตร แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในสองภาวะนี้แล้วร่างกายสร้างออกมามากเกินไป เช่น มีเนื้องอกที่สร้างโปรแลคติน อาจส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศทำให้รอบเดือนผิดปกติในผู้หญิง หรือมีปัญหาสมรรถภาพทางเพศหรือมีบุตรยากในผู้ชาย

ตรวจฮอร์โมน

  • ฮอร์โมนต่อมหมวกไต (DHEA-S, Cortisol) ทำหน้าที่หลักในการรับต่อความเครียดต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทางกาย เช่น การเจ็บป่วย การถูกกดการสร้างฮอร์โมนจากยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน หรือทางจิตใจ เช่น ความเครียดจากการทำงาน ปัญหารอบตัวในชีวิตประจำวัน จนเกิดภาวะอ่อนล้าของร่างกาย
  • การทำงานของโกรทฮอร์โมน (IGF-1, IGF-BP3) ทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกาย บางคนก็เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความอ่อนเยาว์ เพราะอายุยิ่งมาก ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะยิ่งลดลง
  • ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ถ้าร่างกายมีอินซูลินสูงเกินไป ก็อาจส่งผลให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเมตาบอลิคต่างๆ เช่น รับความเครียด ความกดดันในชีวิตประจำวันได้ลดลง ภาวะอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โดยมักตรวจอินซูลินควบคู่ไปกับระดับน้ำตาลในวันนั้นเพื่อนำมาวิเคราะห์สมดุลของอินซูลินและระดับน้ำตาล

ตรวจฮอร์โมน

อยากตรวจฮอร์โมน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนตรวจ?

  • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร
  • หากเป็นไปได้แนะนำมาตรวจช่วงเช้า ประมาณ 8.00 -10.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาที่คอร์ติซอลและฮอร์โมนเพศชายสูงที่สุดของช่วงวัน
  • สามารถมาตรวจพร้อมตรวจภาพประจำปีได้ โดยงดน้ำงดอาหารตามคำแนะนำของโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี
  • กรณีสุภาพสตรีที่ยังมีรอบเดือน และมีปัญหาอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS เด่นชัด และต้องการดูสมดุลระหว่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน แนะนำประมาณวันที่ 21 ของรอบเดือน (นับประจำเดือนมาวันแรก เป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน)
  • หากรับประทานยาคุมกำเนิด หรือใช้ฮอร์โมนเสริม ควรแจ้งประวัติการเข้ารับการตรวจ

ฮอร์โมน

ตรวจฮอร์โมนแล้วดูแลต่ออย่างไรได้บ้าง?

  • เมื่อพบความไม่สมดุลของฮอร์โมน แพทย์จะแนะนำการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการใช้วิตามินและสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น และช่วยปรับให้การทำงานของฮอร์โมนดีขึ้น
  • หากพบความผิดปกติเข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรค หรือมีความจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์เพิ่ม แพทย์ผู้ดูแลจะทำการแนะนำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับฮอร์โมนชนิดนั้น เพื่อดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
    บทความโดย
    ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ชั้น 4
Share