ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง ต่อวัน การกระทำเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่จะนำมาสู่โรคจอประสาทตาเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
เราจึงควรดูแลสุขภาพดวงตาของเราด้วยการระวังการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม ควรมีการพักสายตาทุกๆชั่วโมง หลังจากเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือการใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ สำหรับการเลือกรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยบำรุงสายตาและยังช่วยชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้อีกทางหนึ่งด้วย
อาหารบำรุงสายตา มีอะไรบ้าง?
ผักและผลไม้
ผักและผลไม้หลากหลายสี อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่จะช่วยบำรุงสายตา และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
- วิตามินเอ (vitamin A)
เป็นสารที่ช่วยในการปกป้องกระจกตา มีบทบาทสำคัญในการช่วยการมองเห็นในที่มืด
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ จะเป็นพวกผัก ผลไม้ สีเหลือง ส้ม เขียว ซึ่งผักและผลไม้พวกนี้จะมี สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ เช่น ตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ผักโขม คะน้า พริกหยวก เป็นต้น ส่วนในผลไม้ จะพบใน มะละกอ แคนตาลูป มะม่วงสุก - วิตามินซี (vitamin C)
เป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ และป้องกันการเกิดต้อต่างๆ
แหล่งอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซี ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ เช่น คะน้า ผักโขม กะหล่ำปลี บล็อคโคลีหน่อไม้ฝรั่ง พริกต่างๆ ผลไม้ที่พบวิตามินซีสูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ฝรั่ง กีวี่ - ลูทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวโพด ผักโขม อะโวคาโด
- ไลโคปีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในมะเขือเทศ ฟักข้าว
- แอนโทไซยานิน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบในผักและผลไม้สีม่วง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ทับทิม กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง
ปลา
ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของสายตา ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งปลาทะเลน้ำลึกจำพวก ปลาแซลมอน ปลาทูน่า พวกนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ แอสตาแซนทีน ที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของตาได้อีกด้วย
ไข่
ในไข่แดงอุดมไปด้วยลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของตา
บริโภคผักให้ได้ 4-6 ทัพพี/วัน แนะนำให้เป็นผักที่มีสีส้ม เหลือง ให้ได้วันละ 1 ทัพพี ผลไม้ควรทานให้หลากหลาย และหันมาเลือกรับประทานปลาและไข่ให้มากขึ้น