Shopping Cart

No products in the cart.

MRI 3Tesla เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

MRI 3Tesla
เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

เป็นเครื่องมือบันทึกภาพทางการแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค และติดตามผลการตรวจรักษา โดยอาศัยการส่งถ่ายพลังงานคลื่นวิทยุจากขดลวดส่งคลื่นความถี่วิทยุ ไปยังผู้ป่วยซึ่งนอนอยู่ในสนามแม่เหล็กแรงสูง (อุโมงค์) พลังงานเหล่านี้จะสะท้อนกลับมายังตัวรับสัญญาณ โดยสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจะถูกเปลี่ยนแปลงตามคุณสมบัติของเนื้อเยื่อและหลอดเลือด ซึ่งอาจใช้เวลาในการตรวจนาน 30-60 นาที แต่ข้อดีคือ ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ ของร่างกายและไม่มีรังสีเอกซเรย์

MRI : สามารถหาความผิดปกติของระบบอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค เช่น

  1. ระบบสมอง : สมองขาดเลือด เนื้องอกสมอง การอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมอง และเยื่อหุ้มสมอง ค้นหาสาเหตุการชักในผู้ป่วยโรคลมชัก ความผิดปกติแต่กำเนิดในเด็ก
  2. ระบบกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ : กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดหรือเสื่อม หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เนื้องอกกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง การติดเชื้อกระดูกสันหลังหรือไขสันหลัง การบาดเจ็บของไขสันหลัง
  3. ระบบหลอดเลือดในสมองและส่วนคอ : หลอดเลือดแดง ตีบ แตก หรือตัน หลอดเลือดดำอุดตัน หลอดเลือดผิดปกติโดยกำเนิด
  4. ระบบช่องท้อง : ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ ทางเดินน้ำดี มดลูก รังไข่ และต่อมลูกหมาก เป็นต้น
  5. ระบบทรวงอก : ตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ และเต้านม เป็นต้น

ประโยชน์ของ MRI

  • ไม่มีรังสีเอกซเรย์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย
  • เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคไตที่การตรวจไม่ต้องได้รับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อและผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล

ขั้นตอนในการตรวจ

ผู้ป่วยต้องเข้าไปนอนในเครื่อง ลักษณะคล้ายอุโมงค์ และจะมีการใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยผู้ป่วยต้องนอนในอุโมงค์อย่างน้อย 30 – 60 นาที ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ การตรวจจะแบ่งเป็นชุดๆ ในแต่ละชุดใช้เวลานาน 3 – 5 นาที

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ

ไม่ต้องงดน้ำ และอาหารก่อนตรวจ ยกเว้น การตรวจในช่องท้อง
วันที่มารับการตลรวจ งดใช้เครื่องสำอาง เช่น อายแชโดว์ มาสคาร่า เนื่องจากมีส่วนผสมของโลหะ ซึ่งจะรบกวนคลื่นแม่เหล็ก
วันตรวจควรมีญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 คน
ผู้ป่วยและครอบครัวควรอ่านเอกสารแนะนำ “การปฏิบัติตัวเมื่อเข้ารับการตรวจโดยเครื่อง MRI” และซักถามเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวินิจฉัยให้เข้าใจ

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

เนื่องจากเครื่องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ทำให้มีผลต่อการทำงาน และการขยับของอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะ ทั้งที่อยู่ในร่างกาย หรือที่ติดมากับผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยรับการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจบางรุ่น (Cardiac pacemaker)
  • ผู้ป่วยเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ชนิดโลหะ
  • ผู้ป่วยผ่าตัดใส่คลิปหนีบหลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)
  • ผู้ป่วยผ่าตัดใส่เครื่องช่วยฟังที่ฝังในกระดูกหู
  • ผู้ป่วยมีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียมต่างๆ โลหะดามกระดูก กระสุนปืน
  • มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
  • ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
  • กลัวที่แคบ (Claustrophobia) หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้

การปฏิบัติตัวหลังรับการตรวจ

  1. สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น กรณีที่ได้รับการฉีดสารเพิ่มความแตกต่างของเนื้อเยื่อเข้าทางหลอดเลือดดำ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น ควรมาพบแพทย์
  2. มาตรวจและฟังผลการตรวจตามวันเวลาที่นัดหมาย
Share