Shopping Cart

No products in the cart.

โรคกระดูกพรุน…ภัยเงียบที่ป้องกันได้

กระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมหรือบางลงของกระดูก เนื่องจากสูญเสียแคลเซียม ส่งผลให้กระดูกเปราะหรือหักได้ง่าย โรคนี้มักไม่แสดงอาการหรือก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ นอกจากกระดูกแตกหรือหัก ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และกระดูกข้อมือ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่ ลดน้ำหนักผิดวิธี ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด และขาดวิตามิน ดี หรือแคลเซียม

 

 

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี กระดูกจะบางลงทุก 1-3% ทุกปี
  • สูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงเนื่องจากหมดประจำเดือน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • สตรีหมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปี

ปัจจัยเสี่ยงร่วมที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน

  • พันธุกรรม
  • สตรีวัยหมดประจำเดือน
  • คนผิวขาวและคนเอเชีย
  • ขาดวิตามินดีและแคลเซียม
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นประจำ
  • สูบบุหรี่
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากโหมออกกำลังกายหรืออดอาหาร
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เกินขนาด
  • ภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น โรคต่อมไทรอยด์
  • เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคทางเดินอาหารผิดปกติ

‘กระดูกพรุน’ ถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคกระดูกพรุนก็ต่อเมื่อมีอาการกระดูกหักหรือแตกแล้ว โดยส่วนใหญ่จะพบในสตรีวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากสูญเสียฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากมีภาวะกระดูกพรุนเป็นเวลานานโดยไม่รีบรักษา อาจทำให้กระดูกสันหลังยุบตัวหรือเกิดหลังค่อมได้

การรักษาโรคกระดูกพรุน

  • ฮอร์โมนเสริม รับประทานเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน
  • รักษาด้วยยา รับประทานยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนโดยตรง ทำให้ลดการทำลายของกระดูก เพิ่มการสร้างทำให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น
  • รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากภาวะกระดูกหัก เช่น การฉีดซีเมนต์ที่กระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกสันหลังหัก ยุบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมในรายที่กระดูกสะโพกหัก

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะกลางแจ้งตอนที่มีแดดอ่อน เช่น เวลาเช้า หรือเย็น
  • เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรรีบทำกายภาพบำบัด หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วที่สุดเท่าที่สภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลากระป๋อง ซึ่งสามารถรับประทานกระดูกปลาได้ หรือดื่มนมพร่องไขมันเนย ผักผลไม้ เป็นต้น
  • งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรซื้อยารับประทาน เช่น ยาลูกกลอน เพราะมักจะมีสารเสตียรอยด์ผสมอยู่ ทำให้กระดูกพรุนได้โดยไม่รู้ตัว

 

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์